คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการต่าง ๆ ที่จะต้องมีในคำฟ้องอีกรวม 7 อนุมาตรา แต่มิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขอให้ศาลสั่งริบว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องสูบน้ำเป็นของกลางและมีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่าเป็นของผู้ใดและใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร
เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าจะริบเครื่องสูบน้ำของกลางหรือไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ ป.อ. มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1517/2547 และ 1594/2547 แต่คดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้และให้เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ, พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี, พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 32, 33, 41, 42, 43, 99, 112, 113, 115 ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และบริวารออกไปจากป่า ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน และให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันและที่มิได้อุทธรณ์ ฎีกา รับฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน และเป็นป่าตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุเนื้อที่ 100 ไร่ โดยการปลูกสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่ 2 หลัง พร้อมที่จอดรถ อาคารโรงเก็บเครื่องสูบน้ำ 1 หลัง ขุดสระกักเก็บน้ำ 1 สระ และปลูกพืชไร่ จำพวกส้ม และลำไย สำหรับในปัญหาที่ว่าที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศใต้หรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นการขาดเจตนายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทไร่อุไรวรรณ จำกัด จำเลยที่ 2 มิได้ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ มิได้อุทธรณ์คัดค้านว่าจำเลยที่ 2 มิได้ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งริบเครื่องสูบน้ำของกลางชอบหรือไม่ เห็นว่า เครื่องสูบน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์รายการที่ 5 ตามบัญชีอุปกรณ์อาคารสิ่งปลูกสร้างและต้นส้มเขียวหวานท้ายบันทึกการตรวจค้น ยึด จับกุม จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานป่าไม้ยึดเครื่องสูบน้ำดังกล่าวไว้เป็นของกลางแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานป่าไม้ส่งบันทึกการจับกุมพร้อมผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวน จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานป่าไม้มอบของกลางแก่พนักงานสอบสวนแล้วเช่นเดียวกัน แม้เครื่องสูบน้ำของกลางจะยังคงอยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุและเมื่อตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ บัญญัติว่า บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ และตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคท้าย บัญญัติว่า บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดดังกล่าว ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ดังนั้น เมื่อทางพิจารณารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐและเป็นป่า โดยการปลูกส้ม ลำไย ก่อสร้างอาคารที่พักและขุดสระน้ำ เครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาต่อประการต่อไปว่า โจทก์ไม่บรรยายว่าเครื่องสูบน้ำเป็นของผู้ใด และใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีรายการต่าง ๆ ที่จะต้องมีในคำฟ้องอีกรวม 7 อนุมาตรา แต่มิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขอให้ศาลสั่งริบว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องสูบน้ำเป็นของกลางและมีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าว จึงเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่า เป็นของผู้ใดและใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลาง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับมีคำสั่งให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นการเกินคำขอและการริบของกลางเป็นโทษสถานหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งริบเครื่องสูบน้ำของกลางจึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลางที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดแต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยว่าจะริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวหรือไม่ ไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วแต่ไม่เห็นสมควรริบเครื่องสูบน้ำของกลาง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์สินเป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share