คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่า จำเลยยอมให้เงินโจทก์ 9,600 บาท ถ้าโจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาค้าสุราขายส่งตำบลภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินมัดจำของสัญญา ซึ่งโจทก์กับจำเลยจะได้กระทำกันต่อไป ถ้าพ้นกำหนดไปแล้วถือว่าโจทก์ไม่ติดใจจะทำสัญญาค้าสุรากับจำเลยต่อไป ดังนี้แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ยอมขายสุราให้โจทก์ โจทก์ก็จะมาขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพราะถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้เพราะมิใช่เป็นการขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายและเงินมัดจำจากจำเลย ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลว่า “จำเลยที่ 1 ยอมให้เงินแก่โจทก์ 9,600 บาท โดยจ่ายเช็คเลขที่ 163276 ให้โจทก์แล้วเช็คมีผลรับเงินได้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2505 ถ้าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาค้าสุราขายส่งตำบล มีที่ทำการที่บ้านของโจทก์ ฯลฯ ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องสนองตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะได้ตกลงกันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2505 แล้ว ให้ถือว่าเช็คดังกล่าวเป็นเงินมัดจำของสัญญาซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะได้กระทำกันต่อไปในเวลาดังกล่าวถ้าพ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2505 ไปแล้ว ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจจะทำสัญญาการค้าสุรากับจำเลยที่ 1 ต่อไป และมีสิทธิรับเงินตามเช็คดังกล่าวไปได้ ฯลฯ”

ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ได้ขอซื้อสุราจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมขายให้เป็นการผิดสัญญายอมความ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญายอมความคือ ใช้ค่าเสียหายให้ 25,920 บาท

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องของโจทก์ทำไม่ถูกต้อง เพราะอ้างเหตุผิดสัญญาภายหลังมาเป็นมูลเรียกค่าเสียหาย ไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียม และโจทก์สมัครใจทำการค้าอยู่อีก ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาค้าสุรากันต่อไปอย่างไร เป็นเรื่องนอกสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะต้องเจรจาทำความตกลงกันใหม่อีกชั้นหนึ่ง ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมทำ ก็ไม่ถือว่าผิดสัญญายอมความ สัญญานี้คงใช้บังคับได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงิน 9,600 บาทเท่านั้น ที่โจทก์เรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จึงมิใช่เป็นการขอให้บังคับตามสัญญายอมความ

พิพากษายืน

Share