คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 6 จ้างแรงงานก็ตาม แต่ลักษณะและพฤติการณ์แห่งการจ้างดังกล่าวนั้นก็หาพ้นความหมายของคำว่า ‘นายจ้างลูกจ้างลูกจ้างประจำ’ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ไม่ แม้โจทก์เป็นชาวต่างประเทศแต่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย สถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย มีข้อพิพาทแรงงานกันในประเทศไทยจึงชอบที่จะฟ้องร้องและบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายไทยทุกฉบับที่เกี่ยวข้องเมื่อประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นการเฉพาะอยู่แล้วการจะหวนกลับไปใช้ ป.พ.พ. อันเป็นกฎหมายทั่วไปแต่ฉบับเดียวหาชอบไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งผู้จัดการแผนก อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย 27,643 บาท และค่าใช้จ่ายประจำอีกเดือนละ 35,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระค่าจ้างและค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้โจทก์โดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร รวมเงินทั้งสองประเภทเป็นจำนวน 311,168.70 บาท เมื่อคิดเงินเพิ่มและดอกเบี้ยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 ในอัตราร้อยละสิบห้าถึงวันฟ้อง เป็นเงินเพิ่มและดอกเบี้ย 565,778.70 บาท ซึ่งคิดรวมค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายเงินเพิ่มและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแล้ว รวมเป็นเงิน 867,946 บาทการที่จำเลยทั้งสองไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์โดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุบีบบังคับให้โจทก์ต้องพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง อันถือเป็นการเลิกจ้าง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 90 วัน เป็นเงิน 188,176 บาท แต่จำเลยทั้งสองให้จ่ายให้ โจทก์ทวงถามค่าจ้างและค่าชดเชยแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้าง 876,946 บาทและค่าชดเชย 188,176 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้จ้างโจทก์ในตำแหน่งอัตราค่าจ้างและค่าใช้จ่ายตามคำฟ้อง ความจริงจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นผู้จัดการโครงการพิเศษงานด้านการตลาดหาลูกค้า เพื่อให้โจทก์ทำงานแก่จำเลยที่ 1 ได้อย่างเต็มที่ จำเลยที่ 1 จึงให้ค่าเช่าบ้านแก่โจทก์ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และให้ค่าเลี้ยงรับรอง หรือค่ากิจกรรมบันเทิงแก่ลูกค้าตามที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เพราะฉะนั้น เงินจำนวน 35,000 บาทจึงเป็นผลประโยชน์และสิทธิที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์มิใช่เป็นค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หลังจากทำงานแล้ว โจทก์ทำงานไม่ได้ผลตามที่โจทก์รับรองไว้ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องขาดทุนตลอดมา นอกจากนั้นโจทก์ใช้จ่ายค่าเลี้ยงรับรองหรือค่ากิจกรรมบันเทิงไม่ตรงต่อความจริง เบิกจ่ายสูงกว่าความเป็นจริง และเบิกจ่ายที่ไม่มีอยู่จริงเป็นการแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบ มีเจตนาทุจริต ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชี้แจงความดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่พอใจจึงไม่ทำงานให้เป็นไปตามข้อตกลงทำงานไม่เต็มตามความสามารถโดยจงใจ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายในที่สุดโจทก์รับว่าไม่สามารถทำงานให้สมเจตนารมณ์ตามโครงการของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ขอทำงานอีกต่อไป และได้ยื่นใบลาออกโดยสมัครใจต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1 หาได้เลิกจ้างโจทก์ไม่ จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างหรือค่าใช้จ่ายแต่ประการใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 311,164.70 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควรตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มและดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าเป็นจำนวนเงิน 565,778.70 บาท ตามคำฟ้อง หากศาลฟังว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างก็เรียกได้ไม่เกิน 27,692 บาท สำหรับค่าชดเชยนั้น เมื่อโจทก์ลาออกโดยสมัครใจจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย นอกจากนั้น จำเลยที่ 1 ยังตัดฟ้องว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานมีเจตนารมณ์ใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างผู้เป็นคนไทยด้วยกันเท่านั้น จึงได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้อันเป็นการตอบแทนการทำงานอย่างคนไทย โจทก์เป็นชาวต่างประเทศซึ่งไม่สามารถกำหนดคุณวุฒิและความสามารถในการทำงาน มีค่าจ้างสูงกว่าปกติ กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่อาจคุ้มครองโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้กรณีเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยผิดสัญญาจ้าง ซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ และยังตัดฟ้องอีกว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายประจำมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เงินเพิ่มและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้านั้นเป็นเงินต้นจำนวนละเท่าใด โจทก์เพียงแต่แจ้งยอดเงิน311,168.70 บาท และยอดเงิน 565,778.70 บาท ถือได้ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีกรรมการบริหารชุดเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน แล้วยังประสบภาวะขาดทุนเหมือนกัน เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินกิจการช่วยเหลือกัน โจทก์ต้องทำงานประสานกับลูกจ้างของจำเลยที่ 2บางครั้งบางกรณี แต่ต้องถือว่าทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 มิใช่ทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินทุกจำนวนจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลภายนอกเช่ากิจการไปทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2528 การไม่มีงานให้โจทก์ทำอีก และไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์อีก นอกจากเงินเดือนที่จ่ายเพิ่ม 1 เดือนนั้น ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แล้วนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2528 และเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดตาม ข้อ 47 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยคิดจากค่าจ้าง 27,692 บาท เป็นฐานคำนวณสำหรับเงินเพิ่มและดอกเบี้ยนั้นศาลแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยไม่ใช่ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าตามคำฟ้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1จ่ายค่าชดเชย 83,076 บาท แก่โจทก์ คำฟ้องและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยยืนยันตามคำให้การว่าโจทก์เป็นชาวต่างประเทศ ได้รับค่าจ้างสูง มีการดำรงชีพและความเป็นอยู่แตกต่างจากคนไทย มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการโครงการพิเศษได้รับค่าเช่าบ้าน ได้รับค่ากิจกรรมบันเทิงแก่ลูกค้า นอกจากนั้น จำเลยที่ 1 ยังอุทธรณ์ยกเหตุผลนอกเหนือจากคำให้การโดยอ้างสิทธิและผลประโยชน์อื่นของโจทก์ตามบันทึกการจ้างเอกสารหมาย ล.1 อีกว่าโจทก์มีรถยนต์ประจำตำแหน่งมีสิทธิเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปีละหนึ่งครั้งโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปกลับ ได้รับสวัสดิการด้านการแพทย์จำเลยที่ 1 มีสิทธิพิจารณาผลงานของโจทก์ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาจ้างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาอยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้การจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ก็ตามแต่ลักษณะและพฤติการณ์แห่งการจ้างดังกล่าวนั้นก็หาพ้นความหมายของคำว่า ‘นายจ้าง ลูกจ้าง ลูกจ้างประจำ’ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 2 ไม่ แม้โจทก์เป็นชาวต่างประเทศแต่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย สถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย มีข้อพิพาทแรงงานกันในประเทศไทยจึงชอบที่จะฟ้องร้องและบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายไทยทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง เมื่อประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งจะหวนกลับไปใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายทั่วไปแต่ฉบับเดียวหาชอบไม่ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุผล และไม่มีกฎหมายสนับสนุน ที่โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้เป็นการใช้สิทธิที่ชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อต่อไปว่า คำฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ข้อนี้เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละเท่าใดได้รับค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าใดค่าใช้จ่ายนั้นตามคำฟ้องจึงเห็นได้ว่าโจทก์ถือว่าเป็นค่าจ้างด้วยส่วนหนึ่งเพราะโจทก์ได้นำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย โจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 ตามหน้าที่มาตลอดเวลา แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าจ้างให้นับแต่วันใดจนถึงวันใดรวมค่าจ้างทั้งสองประเภทเป็นเงินเท่าใด ผลแห่งการไม่จ่ายค่าจ้างดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มและดอกเบี้ยโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด เงินเพิ่มและดอกเบี้ยนั้นคิดจากเงินต้นใดจำนวนใด นับแต่วันใดถึงวันใด เป็นเงินเพิ่มและดอกเบี้ยรวมเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อรวมทั้งเงินต้นสองจำนวนกับเงินเพิ่มและดอกเบี้ยแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์เท่าใด คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายแจ้งชัดครบถ้วนตามความต้องการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ ส่วนข้ออุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 จงใจอย่างใดเหตุที่ไม่สมควรในการไม่จ่ายเป็นอย่างใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุแห่งคำฟ้องเคลือบคลุมสองข้อนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นเป็นเหตุแห่งการเคลือบคลุมมาแต่แรกในคำให้การ จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุเดียวกับคำให้การ เพราะฉะนั้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย หากแต่โจทก์ลาออกเองด้วยวาจาพร้อมกับผู้บริหารระดับสูงอื่นนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2528หรือมิฉะนั้น โจทก์ก็ขอลาออกเองเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528ตามเอกสารหมาย ล.3 โดยมีคำแปลตามเอกสารหมาย ล.4 โจทก์หามีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่ ข้อนี้เห็นว่า โจทก์ออกจากงานเพราะถูกเลิกจ้างหรือลาออกเองลาออกเมื่อใดเป็นข้อเท็จจริง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2528 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคัดค้านการฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลางอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งที่ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างและนายจ้างกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 หามีสิทธิและอำนาจอุทธรณ์ประการใดเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นนิติบุคคลอื่นอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่เหตุนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 บางข้อฟังไม่ขึ้น บางข้อวินิจฉัยให้ไม่ได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ชอบแล้ว’
พิพากษายืน.

Share