คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายทำงานได้ระบบเดียว อีก 6 ระบบทำงานไม่ได้ตามสัญญา ผู้ซื้อเลิกสัญญาได้ศาลให้คืนเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ซื้อไม่ต้องใช้ราคา แต่ให้ใช้ค่าใช้ทรัพย์ที่ใช้ได้ 1 ระบบ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์คืนให้ใช้ค่าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างนั้น 56,000 บาท ยกคำขอให้ใช้ราคา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ค่าใช้ทรัพย์เป็นเงิน 35,000 บาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์รายพิพาทจากโจทก์ โดยมีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าต้องเป็นเครื่องที่มีขีดความสามารถทำงานได้ 7 ระบบงานคือ ระบบบัญชีคิดต้นทุนการผลิต การออกตั๋วขายสินค้า บัญชีลูกหนี้ บัญชีเจ้าหนี้ (หรือบัญชีแยกประเภททั่วไป) บัญชีควบคุมชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ บัญชีเงินเดือนและบัญชีวิเคราะห์เกี่ยวกับลูกค้า ปรากฏว่าเครื่องของโจทก์ดังกล่าวสามารถทำงานและส่งมอบให้จำเลยที่ 1 รับไว้ใช้งานได้เพียงระบบงานเดียว คือ ระบบบัญชีคิดต้นทุนการผลิต จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาให้โจทก์มารับเครื่องและอุปกรณ์คืนไปทั้งหมดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2517 ตามเอกสารหมาย ล.4 แต่โจทก์ก็ไม่มารับคืน จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ครบถ้วน การชำระหนี้ของโจทก์เป็นอันไร้ประโยชน์จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ การที่ศาลล่างให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาได้รับการชดใช้เงินตอบแทนเป็นค่าใช้ทรัพย์ในระบบงานหนึ่งจากจำเลยนั้นไม่เป็นการถูกต้อง ศาลฎีกาได้พิจารณาในปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่าข้อตกลงการซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรณีนี้เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข ซึ่งการซื้อขายจะสำเร็จลงด้วยการส่งและรับมอบเครื่องที่มีขีดความสามารถทำงานได้ทั้ง 7 ระบบงาน เมื่อโจทก์ไม่อาจส่งมอบเครื่องได้ครบถ้วนทุกระบบงานตามข้อตกลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก แต่ปรากฏว่าระหว่างระยะเวลาก่อนถึงวันที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจำเลยได้ยอมรับมอบระบบงานบัญชีคิดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นระบบงานหนึ่งของเครื่องไว้ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเองก็ได้รับประโยชน์จากการที่ได้ใช้เครื่องดังกล่าวอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ชอบที่จะได้รับเงินเป็นการตอบแทนตามควรค่าแห่งการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และเห็นว่ามูลค่าแห่งการใช้ทรัพย์เท่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้นั้นเป็นการสมควรแล้ว”

พิพากษายืน

Share