แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทรัพย์ของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา และไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน แม้โจทก์จะแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท
ท. เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านโบราณคดีถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ เบิกความประกอบรายงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จัดทำขึ้นในทางการศึกษาวิจัยลักษณะของชุมชนโบราณที่มีอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและเพิกถอนเอกสารทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูในส่วนที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ ๑ นำไปจดทะเบียนไว้
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นของตน จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เพียงตรวจสอบที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตท้องที่และแจ้งให้นายอำเภอทราบตามแบบที่กำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ประชาชนใช้ร่วมกันมานานกว่า ๑๐๐ ปี และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองและห้ามจำเลยที่ ๒ เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมากว่า ๑๐๐ ปี และขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โจทก์จึงนำ ส.ค. ๑ ไปขอออกโฉนดที่ดินไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๕,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว
เห็นว่า ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา และไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน แม้โจทก์จะแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททางราชการออกโฉนดที่ดินให้แล้ว ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่โจทก์มิได้โต้แย้งว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่นอกแนวเขตคันดินที่เป็นแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู ทางราชการจึงสามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ ต่างกับที่ดินพิพาทที่ตั้งอยู่ภายในแนวเขตคันดินที่ล้อมรอบอยู่ แนวเขตคันดินดังกล่าวปรากฏเห็นชัดเจนสามารถคำนวณพื้นที่ดินที่อยู่ภายในได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ ๑ แจ้งขอขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูโดยระบุว่ามีเนื้อที่ ๘๘ ไร่ โดยไม่ได้มีเจ้าพนักงานที่ดินร่วมดำเนินการด้วย จึงไม่เป็นข้อพิรุธดังที่โจทก์อ้าง และที่โจทก์อ้างว่านายทิวาไม่ได้ออกไปตรวจสอบพื้นที่จริง คำเบิกความของนายทิวาจึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า นายทิวาเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านโบราณคดีถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ เบิกความประกอบรายงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จัดทำขึ้นในทางการศึกษาวิจัยลักษณะของชุมชนโบราณที่มีอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจากเอกสารการวิจัยที่จำเลยอ้างส่งเป็นพยานดังกล่าวได้ระบุแหล่งชุมชนโบราณในเขตจังหวัดศรีสะเกษไว้หลายแห่งรวมทั้งบริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูด้วย และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายบริเวณสถานที่ที่ระบุว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณในเอกสารการวิจัยดังกล่าวเปรียบเทียบกันจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงเป็นอย่างเดียวกัน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญแม้นายทิวาจะไม่ได้ออกไปตรวจดูสถานที่พิพาทโดยดูจากภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวก็สามารถที่จะชี้ยืนยันตามหลักวิชาการได้ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ คำเบิกความของนายทิวาจึงมีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.