คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เช็คสั่งจ่ายแก่ ก. มิได้ขีดคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก โจทก์เป็นผู้ถือจึงเป็นผู้ทรง จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังเช็คต้องรับผิดต่อโจทก์จะอ้างข้อต่อสู้ซึ่งมีต่อ ก. มาใช้ยันโจทก์ ซึ่งมิได้คบคิดกับ ก. ฉ้อฉลโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

จำเลยที่ 1 ออกเช็ค 4 ฉบับสั่งจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลย จำเลยที่ 2สลักหลังไว้ โจทก์ได้เช็คมาจากผู้ที่ชำระหนี้แก่โจทก์บังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ด้วยเช็คนั้นบ้าง ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1, ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ 101,795.19บาท กับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับแม้จะได้ระบุชื่อผู้รับไว้ด้วยแต่ก็มิได้ขีดฆ่าความที่ว่า “หรือผู้ถือ” ออก โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2เป็นผู้ถือเช็คพิพาทโดยเป็นผู้ได้รับไว้เป็นการชำระหนี้โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916ประกอบกับมาตรา 989 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลเช็คหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เมื่อพิเคราะห์ดูข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันใดที่แสดงว่าโจทก์ที่ 1, ที่ 2 ได้รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ถึงหากจะฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบก็เป็นแต่เพียงข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และบุคคลทั้งสามซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับเช็ค ซึ่งจำเลยที่ 1 หาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองได้ไม่”

พิพากษายืน

Share