คำวินิจฉัยที่ 21/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญาในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายในการที่ให้มีศาลทหารแยกต่างหากจากศาลพลเรือนก็เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่กระทำความผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญาต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีในอำนาจของศาลทหาร เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกครองบังคับบัญชาและส่งเสริมอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหาร อันเป็นการยึดหลักเขตอำนาจศาลเหนือตัวบุคคลผู้กระทำผิดซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และเป็นการยกเว้นอำนาจศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่ให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด โดยศาลยุติธรรมจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำความผิดก็เฉพาะแต่กรณีที่ได้กระทำผิดด้วยกันกับพลเรือน หรือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ตามมาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) หรือกรณีตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อคดีนี้ อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๔ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทหารกองประจำการ ว่าร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต่อผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นพลเรือน โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับผู้เสียหายทั้งสามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อันจะเข้าลักษณะคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกันตามมาตรา ๑๔ (๑) แม้ระหว่างพิจารณาจะปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบว่าจำเลยทั้งสองกับผู้เสียหายทั้งสามมีการทะเลาะวิวาท ก็เป็นเรื่องเนื้อหาของคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นพลเรือนเข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้หรือฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมในมูลเหตุเดียวกัน กรณีจึงไม่ใช่คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน หรือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะไม่อยู่ ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) มิเช่นนั้นจะเป็นการให้ศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด ซึ่งไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓

Share