คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 891/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท ศาลพิพากษาว่าโจทก์จำเลยและสามีได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันมา จึงไม่อาจพิพากษาขับไล่ได้ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องคดีใหม่เรียกทรัพย์ส่วนแบ่งของตนตามส่วนที่จะพึงได้ คดีนั้นถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ในนาพิพาทว่าเป็นของโจทก์ทั้งหมด และขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารอีก ดังนี้ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีส่วนได้ในที่พิพาทบางส่วน ก็ควรพิพากษาแบ่งส่วนให้โจทก์จำเลยไปเสียทีเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) โดยไม่จำต้องให้ไปฟ้องใหม่กันอีก.

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท ศาลพิพากษาว่าโจทก์จำเลยและสามีได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันมา จึงไม่อาจพิพากษาขับไล่ได้ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องคดีใหม่เรียกทรัพย์ส่วนแบ่งของตนตามส่วนที่จะพึงได้ คดีนั้นถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยขอให้สั่งแสดงกรรมสิทธ์ในนาพิพาทว่าเป็นของโจทก์ทั้งหมด และขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารอีก
จำเลยต่อสู้ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ คดีขาดอายุความ นาพิพาทเป็นของจำเลยและสามี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคดีของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ไม่ขาดอายุความ และโจทก์จำเลยต้องผูกพันคำพิพากษาคดีก่อน เมื่อโจทก์จำเลยปกครองนาพิพาทร่วมกันมาโดยมิได้ปกครองเป็นส่วนสัด จึงสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าของคนละครึ่ง พิพากษาให้แบ่งนาพิพาทให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง ถ้าแบ่งกันไม่ได้ให้ประมูลระหว่างโจทก์จำเลย หรือให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ว่าโจทก์มีสิทธิในนาพิพาททั้งหมด
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ เพราะโจทก์มาฟ้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งหมด และขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อนนั้นอีก แต่เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องเรียกทรัพย์พิพาททั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์มีส่วนได้บางส่วน ก็ควรพิพากษาแบ่งส่วนให้โจทก์จำเลยไปเสียทีเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๒(๒) โดยไม่ต้องให้ไปฟ้องใหม่กันอีก และศาลฎีกาฟังว่าฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ และศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยชอบแล้ว ที่พิพาทมีเนื้อที่ ๒๔ ไร่ เมื่อมารดาโจทก์ตายตกได้แก่โจทก์และสามีจำเลยคนละครึ่ง ส่วนของสามีจำเลยเมื่อตายไปแล้ว โจทก์จำเลยได้ครอบครองร่วมกันมาเกิน ๑ ปี โดยจำเลยถือว่าเป็นมรดกของสามีตน โจทก์มิได้โต้แย้งสิทธิอย่างใด โจทก์จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในส่วนของสามีจำเลยคนละครึ่งคือ คนละ ๖ ไร่
พิพากษาแก้ ให้โจทก์มีส่วนในนาพิพาท ๑๘ ไร่ จำเลยมี ๖ ไร่ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลระหว่างโจทก์จำเลย หรือขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินกันตามส่วน.

Share