คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเช็คโกสโลวาเกียมี ฟ. เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงนามแทนโจทก์ ฟ. ได้มอบอำนาจให้อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ซึ่งหนังสือมอบอำนาจได้มีการรับรองความถูกต้องและแท้จริงกันมาเป็นทอดๆ โดยมีโนตารีแห่งรัฐรับรองการมอบอำนาจของ ฟ. และกระทรวงยุติธรรมแห่งกรุงปร้ากรับรองลายมือชื่อและตราราชการของโนตารีแห่งรัฐกระทรวงการต่างประเทศของเช็คโกสโลวาเกียรับรองลายมือชื่อและตราราชการของกระทรวงยุติธรรมและสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำกรุงปร้ากรับรองลายมือชื่อและตราราชการของกระทรวงการต่างประเทศของเช็คโกสโลวาเกีย ดังนี้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ไม่มีเหตุที่ศาลควรสงสัยว่าจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง อ. ผู้รับมอบอำนาจจึงฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
เครื่องยนต์ยี่ห้อ SLAVIA(สะลาเวีย) ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ในรายการสินค้าจำพวก 6 และจำพวก 7 นั้นเดิมผู้ผลิตในประเทศเช็คโกสโลวาเกียได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศเช็คโกสโลวาเกียตั้งแต่พ.ศ.2465 ใน พ.ศ.2491 ผู้ผลิตได้โอนเครื่องหมายการค้านี้ให้แก่บริษัทสะลาเวีย มอเตอร์เวอร์คต่อมาพ.ศ.2501บริษัทสะลาเวียฯ ได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกทอดหนึ่ง เครื่องหมายการค้านี้ได้มีการต่ออายุมาทุกสิบปี ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศเช็คโกสโลวาเกียและในประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสากลด้วย เครื่องยนต์ยี่ห้อ SLAVIA(สะลาเวีย) ได้มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2478 และโจทก์ได้ตั้งให้จำเลยเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องยนต์สะลาเวียของโจทก์ ต่อมาจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนนานแล้วไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเองดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย
โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทไว้ในประเทศไทย จึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแม้จำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนอันเป็นการขัดต่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ ก็ยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่โจทก์ก็อาจใช้สิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเรื่องอายุความเพื่อการนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนทะเบียนตราบใดที่ยังไม่มีทะเบียน โจทก์ก็ไม่อาจจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนได้ อายุความในกรณีนี้จึงต้องเริ่มนับแต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีผลสมบูรณ์เป็นทะเบียน คือนับแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศเช็คโกสโลวาเกียมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า และส่วนต่าง ๆ ของสินค้าดังกล่าว ส่งออกไปทั่วโลก ในประเทศไทยโจทก์ได้แต่งตั้งให้นางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตลอดจนมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีทางศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์

สินค้าจำพวกเครื่องจักร เครื่องยนต์ และส่วนต่าง ๆ นี้เดิมบริษัทสะลาเวีย มอเตอร์ นารอดนี พอดนิค (บริษัทสะลาเวียมอเตอร์ บรรษัทแห่งชาติ) เป็นผู้ผลิตและส่งไปจำหน่ายเป็นที่รู้จักนิยมแพร่หลายทั่วโลก ในประเทศไทยก็ได้ส่งสินค้าเหล่านี้เข้ามาจำหน่ายเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “SLAVIA” (สะลาเวีย) ใช้กับสินค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยบริษัทสะลาเวียมอเตอร์ก็เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “SLAVIA” (สะลาเวีย) นี้ต่อกองเครื่องหมายการค้า ในสินค้าจำพวก 6 ตามคำขอเลขที่ 26972 ลงวันที่23 พฤษภาคม 2499 และต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2505 ก็ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกันนี้ในสินค้าจำพวก 7 อีกจำพวกหนึ่ง ปรากฏตามคำขอเลขที่ 44581 นอกจากนี้บริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศเช็คโกสโลวาเกียและประเทศอื่น ๆ แทบทั่วโลก ในปี 2501 บริษัทสะลาเวียมอเตอร์ได้โอนกิจการผลิตสินค้าดังกล่าวตลอดจนเครื่องหมายการค้า “SLAVIA” (สะลาเวีย) นี้ให้โจทก์ โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าของโจทก์ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยตลอดมาจนทุกวันนี้

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2506 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “SLAVIA” (สะลาเวีย) นี้ต่อกองเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวก6 และ 7 ตามคำขอเลขที่ 47194 และ 47195 ความจึงปรากฏแก่โจทก์ว่าในเดือนธันวาคม 2495 จำเลยนี้ในฐานะส่วนตัวได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีคำว่า “SLAVIA” (สะลาเวีย) ประกอบอยู่ด้วยต่อกองเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวก 6 รวมอยู่ด้วย 2 คำขอ คือคำขอเลขที่ 19652 และ 19690 และในเดือนเดียวกันนั้นจำเลยก็ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกันกับที่ได้ยื่นไว้แล้วในสินค้าจำพวก 7 คือตามคำขอเลขที่ 19654 และ 19691 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยในปี 2497 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่อาจพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดให้ได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสี่คำขอซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้วในปี 2497 เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั่นเอง จำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตนำไปขอจดทะเบียนไว้ในนามของจำเลยเอง เพราะในเวลาที่จำเลยขอจดทะเบียนนั้น จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียอยู่กับร้านค้าซึ่งเป็นผู้สั่งสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าในขณะนั้นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยถอนคำขอของจำเลยแล้ว จำเลยไม่ยินยอม จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 19652 และ 19690 ในสินค้าจำพวก 6 และตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 19654 และ 19691 จำพวก 7 ดีกว่าจำเลย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้ง 4 คำขอนั้น

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้คิดประดิษฐ์สินค้าเครื่องยนต์ เครื่องอะไหล่ ตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสินค้าดังกล่าวออกจำหน่าย โดยจำเลยให้เครื่องหมายถึงภาพอันคิดประดิษฐ์นั้นใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าดังกล่าวว่า “SLAVIA” (สะลาเวีย) ผลิตออกจำหน่ายใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2482 และต่อ ๆ มาจนถึงปี 2495 จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก 6 ทั้งจำพวก จำพวก7 ทั้งจำพวก จำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียว เพื่อใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าทั้งหมดในจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้ และได้ใช้ตลอดมาจนทุกวันนี้

โจทก์ไม่ได้เคยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง ทั้งไม่เคยบอกกล่าวติดต่อกับจำเลยให้กระทำการตามที่กล่าวในฟ้อง

จำเลยตัดฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายฐานะโจทก์เป็นโรงงานเครื่องยนต์ เป็นบรรษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและโจทก์ไม่มีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจฉบับสำเนาท้ายฟ้อง เพราะนายแฟรนติ เช็คสเต็คร์ท ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นวิศวกรของโรงงานเครื่องยนต์เช็คโกสโลวาเกียที่ปราฮา บรรษัทแห่งชาติ มิใช่บริษัท หนังสือมอบอำนาจฉบับสำเนาท้ายฟ้องทำในต่างประเทศ ควรให้กงศุลไทยรับรอง เมื่อไม่มีกงสุลไทยรับรองมาก็ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นบรรษัทแห่งชาติของประเทศเช็คโกสโลวาเกีย เป็นนิติบุคคล นายแฟรนติเช็ค สเต็คร์ท เป็นกรรมการบรรษัทโจทก์ มีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ได้โดยสมบูรณ์ และเชื่อว่าใบมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นใบมอบอำนาจที่แท้จริง ไม่มีเหตุสงสัย กับเชื่อว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลย ทั้งคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง จึงพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องที่จำเลยจดทะเบียนไว้เสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยโดยตลอดแล้วมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกานี้ 5 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. โจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่

2. นายแฟรนติเช็คสเต็คร์ท มีอำนาจลงนามในใบมอบอำนาจให้ฟ้องโจทก์หรือไม่

3.หนังสือมอบอำนาจให้นางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น ฟ้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

4. โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยหรือไม่

5. คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ตามประเด็นข้อ 1 นั้น นางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้เบิกความว่า คำว่า “นารอดนี ปอดนิค” เป็นภาษาเช็คโกสโลวาเกีย หมายความถึง “บรรษัทแห่งชาติ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและตามคำเบิกความของนาย เจ.จี.เช็ค ในคดีอาญาของศาลแขวงพระนครใต้หมายเลขแดงที่ 5063/2506 ซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานในคดีนี้ ก็ปรากฏว่าสภาการค้าแห่งประเทศเช็คโกสโลวาเกีย ในกรุงปร้าครับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเอกเทศ ตามกฎหมายเช็คโกสโลวาเกีย (เอกสาร จ.8)กรณีไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องนำผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายของประเทศเช็คโกสโลวาเกียมาสืบในประเด็นนี้แต่ประการใด จำเลยเองก็มิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ตกไป

ประเด็นข้อ 2. นายแฟรนติเช็ค สเต็คร์ท มีอำนาจลงนามในใบมอบอำนาจให้ฟ้องแทนโจทก์หรือไม่นั้น เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งลงนามโดยนายแฟรนติเช็ค สเต็คร์ท มีคำรับรองของโนตารีแห่งรัฐว่าเป็นกรรมการบรรษัทโจทก์มีอำนาจโดยสมบูรณ์ที่จะกระทำการแทนโจทก์ ทั้งในเอกสาร ล.10 ก็รับรองว่านายแฟรนติเช็ค สเต็คร์ท เป็นกรรมการผู้จัดการบรรษัทโจทก์ มีอำนาจลงนามแทนบรรษัทโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นข้อ 3 หนังสือมอบอำนาจให้นางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น ฟ้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นข้อ 2 แล้วว่า นายแฟรนติเช็ค สเต็คร์ท มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ และได้มอบอำนาจให้นางสาวอีนา เยอร์เกนเซ่น ฟ้องคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ (เอกสาร จ.1) ซึ่งได้มีการรับรองความถูกต้องและแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจกันมาเป็นทอด ๆ คือมีโนตารีแห่งรัฐรับรองการมอบอำนาจของนายแฟรนติเช็ค สเต็คร์ท และกระทรวงยุติธรรมแห่งกรุงปร้ากรับรองลายมือชื่อและตราราชการของโนตารีแห่งรัฐ กระทรวงการต่างประเทศของเช็คโกสโลวาเกียรับรองลายมือชื่อและตราราชการของกระทรวงยุติธรรมและสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำกรุงปร้าก รับรองลายมือชื่อและตราราชการของกระทรวงการต่างประเทศของเช็คโกสโลวาเกีย หนังสือมอบอำนาจ (เอกสาร จ.1) จึงมีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ไม่มีเหตุที่ศาลควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจนี้จะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริงแต่ประการใดเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นดุจกัน

ประเด็นข้อ 4 โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยหรือไม่ นั้นฝ่ายโจทก์มีพยานบุคคลหลายปากทั้งที่เป็นคนสัญชาติเช็คโกสโลวาเกียและคนสัญชาติไทยมาสืบประกอบพยานเอกสารซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5063-5066/2506 ของศาลแขวงพระนครใต้รับฟังได้ว่า เครื่องยนต์ยี่ห้อ “SLAVIA” (สะลาเวีย) ซึ่งเป็นสินค้าที่จะต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ในรายการสินค้าจำพวกที่ 6 และจำพวกที่ 7 นั้น ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในเช็คโกสโลวาเกียตั้งแต่ พ.ศ. 2465 โดยผู้ผลิตเป็นผู้จดทะเบียน และต่อมาได้มีการต่ออายุเครื่องหมายการค้าใน พ.ศ. 2475 และใน พ.ศ. 2291 ผู้ผลิตเครื่องยนต์ยี่ห้อ “SLAVIA”(สะลาเวีย) ได้โอนเครื่องหมายการค้านี้ให้กับบริษัทสะลาเวีย มอเตอร์เวอร์ค เมื่อ พ.ศ. 2501 บริษัทสะลาเวียได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกทอดหนึ่ง และได้มีการต่ออายุเครื่องหมายการค้านี้มาทุก ๆ สิบปี (เอกสาร ล.2 – ล.5) นอกจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “SLAVIA”(สะลาเวีย) ในประเทศเช็คโกสโลวาเกีย แล้วยังได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศต่าง ๆ อีก 54 ประเทศ และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสากล ณ กรุงเบอร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย (เอกสาร ล.8)

ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบรับฟังต่อไปได้อีกด้วยว่า เครื่องยนต์ยี่ห้อ”SLAVIA” (สะลาเวีย) ได้มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2478 แล้ว โดยบริษัทสินสยามพาณิชย์จำกัดเป็นผู้สั่งเข้ามาจำหน่าย และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทมินเซนจำกัด เป็นผู้แทนจำหน่าย และจำเลยเองก็เคยเข้าหุ้นกับกรรมการของบริษัทมินเซน จำกัดจัดตั้งบริษัทลีมิน จำกัดขึ้น และโจทก์ได้ตั้งให้บริษัทลีมิน จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องยนต์ “SLAVIA” (สะลาเวีย) ต่อมาจำเลยได้ซื้อหุ้นของบริษัทลีมิน จำกัดทั้งหมด และยังคงจำหน่ายเครื่องยนต์ “SLAVIA” (สะลาเวีย) อยู่ต่อไป ทั้งได้มีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน “เดลิเมล์” ในปี 2495 บางฉบับด้วยว่า จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องยนต์สะลาเวียของโจทก์

ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยคิดค้นชื่อเครื่องหมายการค้า “SLAVIA” (สะลาเวีย) ขึ้นเองโดยผสมคำในภาษาจีนเข้าด้วยกัน 3 คำ แปลความหมายได้ว่า “เครื่องแรงสูง” ก็ดีที่จำเลยอ้างว่าตนได้ว่าจ้างบริษัทในเช็คโกสโลวาเกีย ผลิตเครื่องยนต์สะลาเวียตามแบบแปลนของจำเลยก็ดี เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนเมื่อได้เปรียบเทียบกับคำพยานฝ่ายโจทก์ซึ่งแสดงความเป็นมาโดยลำดับของเครื่องยนต์ “SLAVIA” (สะลาเวีย) ตลอดจนการที่โจทก์ได้ตั้งให้จำเลยเองเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องยนต์ดังกล่าว กับพยานหลักฐานของจำเลยและเปรียบเทียบแบบตัวอักษรซึ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดไว้แล้วย่อมเห็นได้อย่างจะแจ้งว่า จำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนนานแล้วไปจดทะเบียนเป็นของตนเองนั่นเอง ข้อต่อสู้ของจำเลยในเรื่องที่ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโจทก์ในเครื่องหมายการค้านั้นฟังไม่ขึ้น ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นข้อ 5 คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ในประเทศไทย โจทก์จึงยังมิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ฉะนั้น แม้จำเลยจะนำเอาเครื่องหมายการค้าที่พิพาทมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนอันเป็นการขัดต่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ดีโจทก์อาจใช้สิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474มาตรา 41 เปิดช่องไว้ให้ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติเรื่องอายุความเพื่อการนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับโดยอนุโลม อายุความดังกล่าวต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 ที่ศาลอุทธรณ์นับอายุความตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการจดทะเบียนของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สิทธิของโจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนทะเบียนตราบใดที่ยังไม่มีทะเบียน โจทก์ก็ไม่อาจจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนได้ อายุความในกรณีนี้จึงต้องเริ่มนับแต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีผลสมบูรณ์เป็นทะเบียน คือนับแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไปปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาคำขอจดทะเบียนและทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยอ้างมาเองตามหนังสือที่ 19843/2506 ของกระทรวงเศรษฐการ ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2506 ว่า วันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2497 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2497 มิใช่ใน พ.ศ. 2495 ดังที่จำเลยฎีกามา นับจากวันดังกล่าวถึงวันที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้คือวันที่ 5 เมษายน 2506 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share