แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่าผู้ลงชื่อในใบมอบอำนาจไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจลงชื่อทำการแทนบริษัท ใบมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ ดังนี้ ไม่มีประเด็นว่าบริษัทโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ลงชื่อมีอำนาจลงชื่อทำการแทนบริษัท แม้ใบมอบอำนาจไม่ปิดอากรแสตมป์ ก็ไม่ต้องอาศัยฟังข้อเท็จจริงนี้จากใบมอบอำนาจ
ฟ้องเลิกสัญญาเพราะผู้ขายส่งทรัพย์ชำรุดบกพร่องแตกหักเสียหายมาก ไม่บรรยายว่าสินค้าที่ชำรุดบกพร่องมีมากน้อยเพียงใด ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ผู้ขายส่งมอบทรัพย์ที่ชำรุดบกพร่อง เท่ากับไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ผู้ซื้อเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ ผู้ขายต้องให้ผู้ซื้อกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ขายไม่รับสินค้าคืนไม่ปรากฏว่าสินค้าที่ไม่รับคืนมีราคาเท่าใด ศาลให้ผู้ขายใช้ราคาคืนและค่าเสียหายเต็มจำนวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเลิกสัญญาอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาส่งสินค้าที่ชำรุดบกพร่องแตกหักเสียหายเป็นจำนวนมาก ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ราคาสินค้าและค่าเสียหาย 23,676.30 บาทกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา มีนายเจ .อี.จีน เป็นประธานกรรมการ เมื่อปี พ.ศ. 2514 โจทก์สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้สักจากจำเลยเพื่อนำไปขาย คิดเป็นเงิน 44,650.20 บาท จำเลยส่งสินค้าให้โจทก์ในเดือนกันยายน 2514 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ชำระราคาสินค้าให้จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่าสินค้าที่จำเลยส่งไปชำรุดบกพร่องกล่าวคือ ไม้ชิ้นเล็ก ๆ ที่นำมาประกอบเป็นสินค้าแตกแยกออกจากกัน จากการตรวจสอบโดยวิธีสุ่มตัวอย่างของผู้เชี่ยวชาญตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้กาวในการผลิต โจทก์ไม่สามารถนำสินค้าออกขายได้ จึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.9 ขอคืนสินค้าทั้งหมดให้จำเลย และให้จำเลยคืนเงินค่าสินค้าที่รับไว้กับค่าใช้จ่ายในการที่โจทก์นำสินค้าเข้าสหรัฐอเมริกาอีกเป็นเงิน 21,052.71 บาทให้โจทก์ จำเลยรับหนังสือของโจทก์แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยไม่ยอมรับรู้การเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้มีการมอบอำนาจกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบมอบอำนาจไม่ได้ปิดแสตมป์ให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่รัฐนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนายเจ. อี. จีน เป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจลงลายมือชื่อประทับตราบริษัท ได้มอบอำนาจให้นางกีระณา สุมาวงศ์ ฟ้องจำเลยปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมายเลข 1 ท้ายฟ้อง จำเลยก็ให้การต่อสู้ว่า นาย เจ.อี.จีนไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนบริษัทดังกล่าว ใบมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ไม่ถูกต้อง ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางกีระณาฟ้องคดีนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านาย เจ.อี.จีนเป็นผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนบริษัทโจทก์มอบให้นางกีระณา ฟ้องคดีนี้ได้ แม้ใบมอบอำนาจมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่จำต้องอาศัยฟังจากเอกสารใบมอบอำนาจ นางกีระณา สุมาวงศ์ จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าสินค้าที่ชำรุดเสียหายมีมากน้อยเพียงใดนั้น ได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง แต่โจทก์อ้างเหตุความชำรุดบกพร่องเพื่อเลิกสัญญา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านี้ชัดแจ้งแล้ว โดยจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงตัดฟ้องว่าโจทก์ ไม่มีสิทธิเลิกสัญญาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์มีนางกีระณา สุมาวงศ์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.4 ว่าผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบสินค้าที่จำเลยส่งไปให้โจทก์แล้ว ปรากฏว่าใช้กาวคุณภาพไม่ดีทำให้สินค้าเสื่อม สินค้ายังคงเสียหายอยู่เรื่อย โจทก์ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ โจทก์ขอคืนสินค้าและขอให้จำเลยคืนเงินค่าสินค้าพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าให้โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.9 จำเลยมีจดหมายตามเอกสารหมาย จ.12 แจ้งไปให้โจทก์ทราบว่าจำเลยไม่ยอมรับรู้ถึงการเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินค่าซื้อสินค้ารวมทั้งค่าเสียหายจากจำเลยได้ ทั้งนี้เพราะการที่จำเลยส่งสินค้าที่ชำรุดบกพร่องไปให้โจทก์นั้นเท่ากับว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยกลับปฏิเสธความรับผิดดังนี้โจทก์มีอำนาจบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215, 387, 391, 472
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ควรต้องรับผิดทั้งหมดนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ดังเดิมดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 บัญญัติไว้ แต่ปรากฏว่าสินค้าเสียหายส่วนมาก โจทก์ได้ขอคืนสินค้าแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธ และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าสินค้านั้นมีค่าหรือไม่เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยจะขอให้ค่าเสียหายเพียงบางส่วนตามที่จำเลยฎีกามาหาได้ไม่”
พิพากษายืน