แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเคยยื่นฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายแล้วครั้งหนึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยและต่อมาขอถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แล้วจำเลยยื่นฎีกาฉบับใหม่ภายในกำหนดอายุความฎีกาอีก ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อที่เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ฎีกาของจำเลยข้อนี้จำเลยได้ยกขึ้นฎีกาในฎีกาฉบับก่อน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาดังกล่าว และต่อมาได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาไปแล้ว ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยฉบับแรกย่อมยุติเสียแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 เช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยฉบับหลังจึงเป็นการไม่ชอบ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 3 แผนกบัญชีและการเงิน สำนักงานเลขานุการกรม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตั้งฎีกาเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาและเงินช่วยเหลือบุตรข้าราชการและลูกจ้างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจำเลยได้เบียดบังยักยอกเงินสวัสดิการดังกล่าวเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเสียเองโดยทุจริตหลายครั้งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบการกระทำผิดของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินไปของตนเองและผู้อื่นเป็นเงิน 6,150 บาท ต่อมาจำเลยนำเงิน 6,100 บาทส่งคืนทางราชการแล้ว คงไม่ส่งคืนเพียง 50 บาท เหตุเกิดที่แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 161, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเอาไปและไม่ได้ส่งคืนอีก 50 บาทแก่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องข้อก.และ ข. (ฟ้องของศาลชั้นต้น) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 13ให้ลงโทษตามมาตรา 161 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี และจำเลยมีความผิดตามฟ้องข้อ ค.ง.จ. (ฟ้องของศาลชั้นต้น) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา3, 13 และให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำคุกกระทงละ 4 ปีรวม 12 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งหมด 20 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา และจำเลยได้คืนเงินทั้งหมดให้แก่ทางราชการแล้ว ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม2528 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย อ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218 ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2528 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับของจำเลย สำเนาให้โจทก์ครั้นวันที่ 4 เมษายน 2528 จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลยได้ และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยได้ยื่นฎีกาลงวันที่ 4 เมษายน 2528ต่อศาลชั้นต้นอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 1, 2เป็นปัญหาข้อกฎหมายให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ นอกจากนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับสำเนาให้โจทก์แก้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าเป็นข้อกฎหมายนี้จำเลยได้ยกขึ้นฎีกามาแล้วในฎีกาฉบับก่อน แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528(จำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2528) และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยไว้แล้วต่อมาวันที่ 4 เมษายน2528 จำเลยกลับยื่นคำร้องขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของจำเลยเสีย ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้สั่งอนุญาตให้จำเลยถอนได้ แต่จำเลยกลับทำฎีกามายื่นใหม่ภายในกำหนดอายุความฎีกาอีก ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่11 มีนาคม 2528 ย่อมยุติเสียแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ทั้งนี้เทียบเคียงได้กับคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 143/2502 คดีระหว่าง นายลบ ขำโคกกรวดกับพวก โจทก์ สิบตำรวจตรีสมาน มนูญศักดิ์ กับพวกจำเลย เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยฉบับหลังลงวันที่ 4เมษายน 2528 จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยเสีย