คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16093/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ เป็นสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาใช้แก่ผู้ค้าที่ประสงค์จะทำสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่มในศูนย์อาหารดังกล่าวทุกคน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแรกเข้าจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 โดยมิพักต้องคำนึงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 720,000 บาท โจทก์ได้จ่ายเพื่อได้สิทธิในการประกอบอาหารในศูนย์อาหารดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท แม้ในการประกอบธุรกิจศูนย์อาหารของจำเลยที่ 1 นี้จะมีค่าใช้จ่ายและค่าบริหารจัดการ และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของยอดขายอาหารของโจทก์ ก็หาทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์เข้าใช้ประโยชน์ตามสิทธิที่ระบุในสัญญาได้เพียงประมาณ 6 เดือน แล้วมีการเลิกสัญญาและไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 หาผู้มาใช้ประโยชน์ต่อจากโจทก์ไม่ได้ ข้อตกลงในสัญญากำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนเลยย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์คิดหักค่าใช้ประโยชน์จากศูนย์อาหารดังกล่าวตามระยะเวลาที่โจทก์ได้ใช้สิทธิออกจากเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแล้วกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 600,000 บาท ที่เหลือแก่โจทก์ แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแก่โจทก์เพียง 515,500 บาท และโจทก์พอใจไม่อุทธรณ์โต้แย้งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์เท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานับเป็นการใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงอำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจและทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญา เพื่อให้ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป ส่งมอบสถานประกอบการให้แก่จำเลยที่ 1 ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ให้โจทก์ชำระเงิน 199,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าทวงถามอัตราร้อยละ 4 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 589,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 565,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าประกันให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าให้แก่โจทก์ เพราะเป็นเงินกินเปล่าที่ผู้ประกอบการต้องชำระเพียงครั้งเดียวตลอดอายุสัญญา ซึ่งตามสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกคืนไม่ว่าด้วยเหตุใดทั้งสิ้น เห็นว่า แม้ตามข้อ 2 ของสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ จะมีข้อความตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกามาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วมิได้โต้แย้ง สัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ จึงเป็นอันเลิกกัน และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า การเลิกสัญญานี้ถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใด ดังนั้น คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน ข้อตกลงที่กำหนดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่อาจเรียกเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาที่คู่สัญญานี้ได้เข้าใช้สถานที่ หรือว่าเป็นความผิดของคู่สัญญาดังกล่าวหรือไม่ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้โจทก์ต้องรับภาระมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร เมื่อสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ เป็นสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาใช้แก่ผู้ค้าที่ประสงค์จะทำสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่มในศูนย์อาหารดังกล่าวทุกคน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแรกเข้านี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 โดยมิพักต้องคำนึงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 720,000 บาท นี้ โจทก์ได้จ่ายเพื่อได้สิทธิในการประกอบอาหารในศูนย์อาหารดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท แม้ในการประกอบธุรกิจศูนย์อาหารของจำเลยที่ 1 นี้ จะมีค่าใช้จ่ายและค่าบริหารจัดการ และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของยอดขายอาหารของโจทก์ ก็หาทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์เข้าใช้ประโยชน์ตามสิทธิที่ระบุในสัญญาได้เพียงประมาณ 6 เดือน และไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 หาผู้มาใช้ประโยชน์ต่อจากโจทก์ไม่ได้ การที่จะให้โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนเลย ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์คิดหักค่าใช้ประโยชน์จากศูนย์อาหารดังกล่าวตามระยะเวลาที่โจทก์ได้ใช้สิทธิออกจากเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้า แล้วกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 600,000 บาท ที่เหลือแก่โจทก์ แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแก่โจทก์เพียง 515,500 บาท และโจทก์พอใจไม่อุทธรณ์โต้แย้ง นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์เท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนดมา นับเป็นการใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงอำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญา เพื่อให้ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข สำหรับเงินค่าประกันจำนวน 50,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้ตามสัญญาจะมิได้กำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนได้ แต่ตามข้อ 1.7 ของสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ ก็กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำไปหักกลบลบหนี้ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิไม่คืนเงินค่าประกันจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาเลิกกันแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การสั่งค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ศาลต้องสั่งให้ชัดแจ้งว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องเดิมหรือฟ้องแย้ง แต่ศาลอุทธรณ์สั่งเพียงให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โดยมิได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน และให้ยกฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลฟ้องแย้งทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องเดิมและฟ้องแย้งชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ

Share