แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายได้รับอันตรายมีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะด้านขวาและซ้าย 10 แผลเศษ ทำให้กะโหลกศีรษะด้านหน้าขวาและซ้ายแตกกดยุบลง ศีรษะด้านข้างและท้ายทอยซ้ายแตกมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ด้านข้างซ้าย ฝ่ามือขวามีบาดแผล 2 แห่ง ยาว 4 เซนติเมตร และจมูกด้านซ้ายเป็นรอยบาดแผล ผิวหนังถลอกประมาณ 10 แผล ในขณะที่แพทย์รับตัวผู้เสียหาย ผู้เสียหายช็อกเนื่องจากเสียเลือดมาก หากไม่ได้รักษาทันท่วงทีผู้เสียหายอาจ ถึงแก่ความตายเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายเต็มแรง อาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายเป็นมีดฟันหญ้ามีขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่า
อาการโรคซึมเศร้าเกิดจากความกดดันของสภาพแวดล้อม ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำลง เมื่อมีเหตุมากระตุ้นจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ จำเลยไม่มีมูลเหตุที่จะเคียดแค้นจนถึงกับต้องทำร้ายผู้เสียหาย แต่เป็นเพราะอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจนแสดงออกในทางเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพและรู้สึกว่าจำเลยไร้ค่าจนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบผู้เสียหายกำลังขับเรือเร่ขายสินค้า เช่นเดียวกับตน จึงเป็นเหตุกระตุ้นจิตใจของจำเลยให้มีความก้าวร้าวยิ่งขึ้น จนจำเลยแสดงออกด้วยการทำร้ายผู้เสียหายอย่างรุนแรง แต่วันเกิดเหตุจำเลยขับเรือออกไปค้าขายซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามปกติ ในเรือของจำเลยมีสินค้าต่าง ๆ สำหรับจำหน่ายอันเป็นอาชีพของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยยังสามารถประกอบอาชีพตามที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ หลังเกิดเหตุ จำเลยยังสามารถขับเรือแล่นหลบหนีกลับบ้านได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งศาลอาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าโทษ ที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๘ เวลากลางวัน จำเลยใช้มีดฟันหญ้ายาวประมาณ ๒๐ นิ้วครึ่ง เป็นอาวุธ ฟันนายลิ้มเกา เจริญประกอบกิจ ผู้เสียหายหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า อาวุธมีดถูกบริเวณลำคอ ศีรษะ ใบหน้า ฝ่ามือ ทำให้กะโหลกศีรษะแตกยุบ เลือดออกเยื่อหุ้มสมอง แต่ผู้เสียหายได้รับการรักษาทันท่วงทีจึงไม่ตายสมดังเจตนาของจำเลย คงได้รับอันตรายสาหัสต้องบาดเจ็บทุพพลภาพ ป่ายเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธมีดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๓๓ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายลิ้มเกา เจริญประกอบกิจ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ให้จำคุก ๑๒ ปี คำให้การ ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนที่รับว่าใช้อาวุธมีดฟันโจทก์ร่วมจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก ๖ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย ๑๐ ปี คำรับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้ต่อศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและได้บรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้ค่าเสียหายจนโจทก์ร่วมพอใจและไม่ติดใจเอาความ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๕ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง โจทก์ร่วมถูกทำร้ายได้รับอันตรายมีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะด้านขวาและซ้าย ๑๐ แผลเศษ ทำให้กะโหลกศีรษะด้านหน้าขวาและซ้ายแตก กดยุบลง ศีรษะด้านข้างและท้ายทอยแตกมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกด้านข้างซ้าย ฝ่ามือขวามีบาดแผล ๒ แห่ง ยาว ๔ เซนติเมตร และจมูกด้านซ้ายเป็นรอยบาดแผลผิวหนังถลอก
มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมกำลังขับเรือออกไปค้าขายตามปกติ จำเลยขับเรือไปค้าขายเช่นเดียวกับโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยขับเรือไปทันเรือโจทก์ร่วม จำเลยเทียบเรือโจทก์ร่วมแล้วจำเลยกระโดดขึ้นเรือโจทก์ร่วมและใช้มีดดาบยาวประมาณ ๑ ฟุตครึ่ง ฟันที่ศีรษะ ลำคอของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมพยายามปัดป้อง จากนั้นจำเลยหยิบขวดขว้างใส่โจทก์ร่วมแล้วจำเลยกลับขึ้นเรือของตนขับออกไป เมื่อพิจารณาบาดแผลของโจทก์ร่วมประกอบกับความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษา โจทก์ร่วม เฉพาะบาดแผลที่ศีรษะโจทก์ร่วมประมาณ ๑๐ แผล ทำให้ศีรษะด้านหน้าขวาและซ้ายแตกกดยุบลง ศีรษะด้านข้างและท้ายทอยซ้ายแตก มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกด้านข้างซ้ายในขณะที่แพทย์รับตัวโจทก์ร่วมนั้น โจทก์ร่วมช็อกเนื่องจากเสียเลือดมาก หากไม่ได้รักษาทันท่วงทีโจทก์ร่วมอาจถึงแก่ความตายเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันโจทก์ร่วมเต็มแรง อาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายเป็นมีดฟันหญ้ามีขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดย มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมจริงตามฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำไปโดยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้หรือไม่ เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยขับเรือออกไปค้าขายซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามปกติ ในเรือของจำเลยมีสินค้าต่าง ๆ สำหรับจำหน่ายอันเป็นอาชีพของจำเลย จึงถือได้ว่าจำเลยยังสามารถประกอบอาชีพตามที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยสามารถขับเรือกลับไปบ้านของตนและอยู่ที่บ้านจนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยไว้ได้ แต่เมื่อพิจารณาคำให้การของนายแพทย์วีระเดช วีระพงศ์เศรษฐ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจรักษาวินิจฉัยผู้ป่วยทางจิตเวช โรงพยาบาลนิติเวชได้ความว่า จากการตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยประกอบกับตรวจสอบประวัติของจำเลยในการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมาก่อน มีความเห็นน่าเชื่อว่า จำเลยมีความรู้สึกในการกระทำตามวันเวลาที่เกิดเหตุได้บ้าง แต่อาจเป็นการรู้ตัวในการกระทำไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้นนายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล เบิกความว่า ได้ตรวจรักษาจำเลยซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีอาการเช่นนี้มานานประมาณ ๖ เดือน โดยจำเลยแจ้งต่อนายแพทย์มาโนชว่า จำเลยมีความเครียดจากคู่แข่งทางด้านการค้าคือผู้ขายสินค้าทางเรือ เดิมจำเลยขายสินค้าทางเรือเพียงผู้เดียว แต่ต่อมามีคู่แข่ง ในบางครั้งจำเลยคิดอยากทำร้ายคู่แข่งทางการค้า ในบางครั้งจำเลยมีความก้าวร้าวทั้งในการ ทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่มาจากภายใน อาการโรคซึมเศร้าเกิดจากความกดดันของสภาพแวดล้อม ทำให้จำเลยมีความรู้สึกตัวเองไร้ค่ามีความคิดอยากตาย มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำลง เมื่อมีเหตุมากระตุ้นจำเลยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองขาดความยับยั้งชั่งใจ เห็นว่า การที่จำเลยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานประมาณ ๖ เดือนก่อนเกิดเหตุ จนทำให้เกิดความเครียดในการประกอบอาชีพ จำเลยไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ก่อนเกิดเหตุเพียง ๒ วัน สาเหตุหนึ่งที่จำเลยปรึกษากับแพทย์คือการมีคู่แข่งทางการค้าทางเรือจนทำให้จำเลยคิดทำร้ายคู่แข่งซึ่งคือโจทก์ร่วม การที่จำเลยเครียดและไปพบแพทย์ด้วยปัญหาดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีความผิดปกติทางจิตใจเป็นอันมากและอาจรู้สึกตัวว่าในบางขณะจำเลยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เมื่อมีเหตุกระตุ้น ทั้งจำเลยมีสติปัญญาทึบ การที่จำเลยไม่มีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมมาก่อนลำพังแต่เพียงการค้าขายสินค้าประเภทเดียวกันโดยเร่ขายทางเรือและไม่ปรากฏว่ามีความขัดแย้งหรือแย่งชิงลูกค้ากัน จึงไม่มีมูลเหตุที่จำเลยจะเคียดแค้นจนถึงกับต้องทำร้ายโจทก์ร่วม แต่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจนแสดงออกในทางเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าจนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบโจทก์ร่วมกำลังขับเรือเร่ขายสินค้า เช่นเดียวกับตน จึงเป็นเหตุกระตุ้นจิตใจของจำเลยซึ่งกำลังผิดปกติด้วยโรคซึมเศร้าให้มีความก้าวร้าวยิ่งขึ้นจนจำเลยแสดงออกด้วยการทำร้ายโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง แต่หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยยังสามารถขับเรือแล่นหลบหนีกลับบ้านได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งศาลอาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ประกอบด้วยมาตรา ๖๕ วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลย ๔ ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยบรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจของโจทก์ร่วม นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์ในการกระทำความผิดมีสาเหตุจากอาการป่วยทางจิต ประกอบกับระดับสติปัญญาของจำเลยเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๓ ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๘ ครั้ง ภายในเวลา ๒ ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยไปรับการบำบัดรักษาอาการป่วย ทางจิตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลนิติจิตเวชตามที่แพทย์นัดจนกว่าจะหายเป็นปกติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.