คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นประเภทเครื่องหมายคำและเป็นคำอักษรโรมันคำว่า “EIKON” เหมือนกัน มีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกันว่า “อิ-คอน” ถือได้ว่าคล้ายกันมาก แต่ถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคหรือผู้รับบริการของโจทก์และผู้ใช้สินค้าของ ว. เป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 42 ส่วนเครื่องหมายการค้าของ ว. ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 นับได้ว่าเป็นการจดทะเบียนกันคนละประเภทและต่างจำพวกกัน รายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียน คือ บริการการใช้เช่าคอมพิวเตอร์ บริการการออกแบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลอื่น เป็นต้น ส่วนรายการสินค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือ เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ฟิวส์ เต้าเสียบ สวิตช์ เป็นต้น อันเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ถือได้ว่า รายการบริการและรายการสินค้าสองกลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกัน กลุ่มผู้ใช้สินค้าและบริการเป็นคนละกลุ่มกัน เนื่องจากรายการบริการของโจทก์เน้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผู้รับบริการของโจทก์จึงเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสนใจความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพ ส่วนรายการสินค้าของ ว. เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงมิใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดได้โดยง่าย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้ากรณียังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือแจ้งคำสั่งที่ พณ 0704/3145 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 825/2556 และพิพากษาว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 728358 เป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการและมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้กับให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือแจ้งคำสั่งที่ พณ 0704/3145 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 825/2556 ซึ่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ ให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 728358 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไอร์แลนด์ ประกอบธุรกิจการให้บริการจัดหาซอฟต์แวร์ ข้อมูล และแอปพลิเคชันสำหรับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน กฎหมาย ภาษีและบัญชี วิทยาศาสตร์ และการดูแลสุขภาพ โจทก์มอบอำนาจให้นายกฤชวัชร์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ทอมสัน รอยเตอร์สไฟแนนซ์ เอส.เอ.,สำนักงานสาขาประเทศสมาพันธรัฐสวิสยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับใช้กับบริการจำพวกที่ 42 รายการบริการ การให้เช่าคอมพิวเตอร์ การออกแบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลอื่น การปรับปรุงคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยสำหรับบุคคลอื่น การให้เช่าคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ต่อมาทอมสัน รอยเตอร์สไฟแนนซ์ เอส.เอ.,สำนักงานสาขาประเทศสมาพันธรัฐสวิสโอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวให้แก่โจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “” ที่ไวมาร์ เอส.พี.เอ. ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้า เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ฟิวส์ เต้าเสียบ สวิตช์ สวิตช์กลับทาง ปุ่มกดกระตุ้นวงจรไฟฟ้า สวิตช์ควบคุมจากระยะไกลเต้ารับไฟฟ้า อุปกรณ์ต่อเชื่อมเต้ารับ (ตลับ) โทรศัพท์ เต้ารับสัญญาณ เต้ารับสัญาณโทรทัศน์ อุปกรณ์ส่งสัญญาณแสงและเสียง เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วพร้อมด้วยอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้า เครื่องตัดวงจรกระแสไฟฟ้า เครื่องตรวจจับแก๊สและแก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ เครื่องตรวจจับควัน เครื่องตรวจจับการปรากฏตัวอยู่ของบุคคล สวิตช์ (ตัวปรับควบคุม) ความสว่างของดวงไฟฟ้า สวิตช์ไทม์-ดีเลย์ระบบอิเล็กทรอนิกส์สวิตช์ที่ตั้งโปรแกรมได้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องรีซิสเตอร์ไฟฟ้า เครื่องควบคุมอุณหภูมิคอมมิวเทเตอร์ อุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเสียงแบบสเตอริโอโฟนิก อุปกรณ์ควบคุมการเข้าออกเพื่อความปลอดภัยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กล้องอินฟาเรด ตัวรับแสงอินฟาเรด สวิตช์หรี่ไฟที่มีตัวรับแสงอินฟาเรด อุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมและอุปกรณ์ประกอบของอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมที่ไม่ใช้กับยานพาหนะ แผ่นครอบกล่องไฟฟ้า จึงมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “EIKON” ซึ่งเป็นคำ ๆ เดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว เครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายเรียกขานได้ว่า อิ-คอน เช่นเดียวกัน เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนแล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้ แม้เครื่องหมายบริการของโจทก์ใช้กับบริการจำพวกที่ 42 ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 ซึ่งเป็นบริการและสินค้าต่างจำพวกกันก็ตาม แต่รายการบริการและรายการสินค้ามีลักษณะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเกี่ยวกับการใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการป้องกันการโจรกรรม จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนหลักฐานที่โจทก์นำส่งนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายบริการนั้นมาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายแล้วในประเทศไทยจึงมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายบริการคำว่า “” ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 42 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่ไวมาร์ เอส.พี.เอ. ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าเครื่องหมายทั้งสองเครื่องหมายจะคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายทั้งสองทั้งหมดแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงรายการสินค้าและรายการบริการที่เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวนำไปใช้ว่าเป็นสินค้าหรือบริการจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการรวมตลอดทั้งกลุ่มผู้รับบริการหรือบริโภคสินค้าที่ใช้เครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และลักษณะของการให้บริการแก่ผู้รับบริการหรือลักษณะการขายสินค้านั้นให้แก่ผู้บริโภค สำหรับกรณีเครื่องหมายบริการคำว่า “” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่ไวมาร์ เอส.พี.เอ. ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายทั้งสองคำดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นประเภทเครื่องหมายคำอย่างเดียว และเป็นคำอักษรโรมันคำว่า “EIKON” เหมือนกัน อันมีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกันว่า อิ-คอน มีลักษณะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่รูปแบบการประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน อันถือได้ว่าเครื่องหมายทั้งสองคำนี้มีรูปลักษณะคล้ายกันอย่างมากแต่ความคล้ายกันดังกล่าวจะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคหรือผู้รับบริการของโจทก์และผู้ใช้สินค้าของไวมาร์ เอส.พี.เอ. เป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงเครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 42 ส่วนเครื่องหมายการค้าที่ไวมาร์ เอส.พี.เอ ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 อันนับได้ว่าเป็นการจดทะเบียนกันคนละประเภทและต่างจำพวกกัน รายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าว คือ บริการการใช้เช่าคอมพิวเตอร์ บริการการออกแบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลอื่นบริการการปรับปรุงคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยสำหรับบุคคลอื่น บริการให้เช่าคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ส่วนรายการสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว คือ เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ฟิวส์ เต้าเสียบ สวิตช์ สวิตช์กลับทาง ปุ่มกดกระตุ้นวงจรไฟฟ้า สวิตช์ควบคุมจากระยะไกล เต้ารับไฟฟ้าอุปกรณ์ต่อเชื่อมเต้ารับ (ตลับ) โทรศัพท์ เต้ารับสัญญาณ เต้ารับสัญญาณโทรทัศน์ อุปกรณ์ส่งสัญญาณแสงและเสียงเครื่องตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วพร้อมด้วยอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้า เครื่องตัดวงจรกระแสไฟฟ้า เครื่องตรวจจับแก๊สและแก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ เครื่องตรวจจับควัน เครื่องตรวจจับการปรากฏตัวอยู่ของบุคคลสวิตช์ (ตัวปรับควบคุม) ความสว่างของดวงไฟฟ้า สวิตช์ไทม์ดีเลย์ระบบอิเล็กทรอนิกส์สวิตช์ที่ตั้งโปรแกรมได้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องรีซิสเตอร์ไฟฟ้า เครื่องควบคุมอุณหภูมิคอมมิวเทเตอร์ อุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเสียงแบบสเตอริโอโฟนิก อุปกรณ์ควบคุมการเข้าออกเพื่อความปลอดภัยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กล้องอินฟาเรด ตัวรับแสงอินฟาเรด สวิตช์หรี่ไฟฟ้าที่มีตัวรับแสงอินฟาเรด อุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมและอุปกรณ์ประกอบของอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมที่ไม่ใช้กับยานพาหนะ แผ่นครอบกล่องไฟฟ้า อันเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งถือได้ว่ารายการบริการและรายการสินค้าสองกลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกัน กลุ่มผู้รับบริการของโจทก์กับกลุ่มผู้ใช้สินค้าของไวมาร์ เอส.พี.เอ เป็นคนละกลุ่มกัน เนื่องจากรายการบริการของโจทก์เป็นรายการบริการที่เน้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผู้รับบริการของโจทก์จึงเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสนใจด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพของการให้บริการติดตามซ่อมบำรุงด้วย หาใช่พิจารณาเพียงเครื่องหมายบริการประการเดียวไม่ ส่วนรายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ไวมาร์ เอส.พี.เอ. ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย ผู้ที่มีความประสงค์จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวันย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวังโดยมิได้พิจารณาแต่เพียงเครื่องหมายการค้าแล้วตัดสินใจเลือกซื้อทันที เพราะต้องพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ในเอกสารโฆษณา ตัวสินค้าที่แท้จริง และการทดลองใช้สินค้าก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ รวมทั้งความน่าเชื่อถือในผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการหลังการขายด้วย จึงมิใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดได้โดยง่าย โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “” ตามคำขอเลขที่ 728358 โดยมุ่งประสงค์จะแอบอิงหรือแสวงหาประโยนช์ในชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของไวมาร์ เอส.พี.เอ. ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเครื่องหมายบริการคำว่า “” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ ตามคำขอเลขที่ 728358 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของที่ไวมาร์ เอส.พี.เอ. ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค303678 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ อันจะเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 6 (3) และมาตรา 13 ดังที่จำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยและพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share