แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในกรมที่ดินจำเลยที่ 1 และเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำแผนที่ ได้ทำการรังวัดและคำนวณเนื้อที่ดินในแผนที่พิพาท ในคดีที่โจทก์ฟ้องผู้มีชื่อผิดพลาดด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เกินไปจากที่ระบุไว้ในโฉนด ซึ่งความจริงที่ดินของโจทก์ก็ได้มีเนื้อที่เกินไปจากโฉนดแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ศาลวินิจฉัยฟังว่าที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวอยู่นอกเขตโฉนดของโจทก์และพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๔๙๗ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ รับราชการในกรมของจำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่รังวัดและทำแผนที่วิวาทตามคำสั่งศาลและคำนวณเนื้อที่ดินตามแผนที่เป็นการปฏิบัติราชการในอำนาจหน้าที่ ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ รับราชการในกรมของจำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่คำนวณเนื้อที่ดินตามแผนที่ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ในการปฏิบัติราชการในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑
นางสาวผาดและนางสาวเล็กเจ้าของที่ดินข้างเคียงนำชี้เขตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ซึ่งโจทก์ครอบครองรวม ๒๑๑.๘๘ ตารางวา คิดเป็นเงิน ๘๔,๗๕๒ บาท โจทก์ฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลแพ่งขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาท ๒๑๑.๘๘ ตารางวาเป็นของโจทก์ ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๗๐๔๖/๒๕๑๗ ของศาลแพ่ง ในการดำเนินคดีดังกล่าว ศาลแพ่งสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครทำแผนที่พิพาท จำเลยที่ ๒ ทำแผนที่ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้คำนวณ จำเลยทั้งสองแจ้งต่อศาลว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๔ ตารางวา เกินกว่าที่ดินตามโฉนด ๒ งาน ๒๔ ตารางวา เป็นเหตุให้ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี หลังจากศาลพิพากษาแล้ว สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครมีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ แจ้งให้ศาลแพ่งทราบว่าคำนวณผิดพลาด ความจริงที่ดินของโจทก์คำนวณได้เพียง ๙ ไร่ ๑ งาน ๒๖ ตารางวา การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คำนวณที่ดินผิดไป ๒๗๘ ตารางวา เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดหายไปจากโฉนดเดิมถึง ๒๓๕ ตารางวา คิดราคาตารางวาละ ๑,๔๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๕๒,๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิด ขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ ๓ ไม่มีหน้าที่ในการคำนวณที่ดิน แต่มีหน้าที่ตรวจการลงเลขหมายแผนที่และตรวจการคำนวณเนื้อที่ที่ช่างแผนที่คำนวณมาแล้วว่าถูกต้องหรือไม่ การที่ที่ดินของโจทก์จะเกินกว่าที่ดินที่มีอยู่ตามโฉนดมากหรือน้อยไม่เป็นเหตุให้ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง และไม่ทำให้ที่ดินตามโฉนดของโจทก์ขาดหายไป ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องตารางวาละ ๑,๕๐๐ บาทสูงเกินไป ราคาไม่เกินตารางวาละ ๕๐๐ บาท โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน ๑ ปี นับแต่วันทราบเหตุละเมิดคดีโจทก์ขาอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเรียกนางสาวผาดและนางสาวผุสดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามคำร้องของจำเลยที่ ๑ ระหว่างพิจารณานางสาวผาดถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายสุชาติเข้ารับมรดกความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันรับผิดตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องนางสาวผาด นางเล็กจำเลยและนางสาวผุสดีจำเลยร่วมต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ ๗๐๔๖/๒๕๑๗ ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของโฉนดเลขที่ ๘๙๗ โดยซื้อจากนายเฉย โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอทำการรังวัด นางสาวผาด นางเล็ก จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงชี้เขตที่ดินรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ นางสาวผาด นางเล็ก จำเลยทั้งสองให้การความว่า โจทก์ขอรังวัดและนำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่
วันชี้สองสถานคู่ความรับกันว่าที่ดินของโจทก์โฉนดที่ ๘๙๗ มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๘๐ วา และที่ดินของจำเลยโฉนดที่ ๘๙๖ ซึ่งอยู่ติดกันมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ตามแผนที่กลางที่ศาลสั่งทำ ที่พิพาทมีเนื้อที่ประมาณ ๒๑๑ ตารางวา ประเด็นสำคัญในคดีนั้นมีว่า ที่พิพาท ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครกรมที่ดินทำแผนที่พิพาท จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ทำแผนที่พิพาทส่งศาลตามเอกสารหมาย จ.๔
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นสำคัญแห่งคดีดังกล่าว โดยอาศัยแผนที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.๕ ความว่า ที่โจทก์ว่าที่พิพาทที่รุกล้ำกันนี้อยู่ในโฉนดของโจทก์ แต่จากการรังวัดที่พิพาทที่ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ทำตามเอกสารหมาย จ.๔ ปรากฏผลของการรังวัดจากนายสิทธิศักดิ์ (จำเลยที่ ๒ ในคดีนี้) ช่างรังวัดของกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแผนที่และโฉนดที่ดินว่าเนื้อที่ในโฉนดของโจทก์มี ๙ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา แต่วัดใหม่ในคราวพิพาทได้ ๑๐ ไร่ ๔ ตารางวา สำหรับฝ่ายจำเลยเนื้อที่ตามโฉนดมี ๙ ไร่ แต่วัดในคราวพิพาทได้ ๘ ไร่ ๑ งาน ๙๕ ตารางวา จึงเห็นได้ชัดว่า เนื้อที่ดินในส่วนที่พิพาทกันนี้หาได้อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ไม่ เพราะเมื่อวัดตามที่โจทก์นำชี้แล้วได้เนื้อที่ถึง ๑๐ ไร่ ๔ ตารางวา ซึ่งเกินไปจากเนื้อที่ในโฉนดของโจทก์ถึง ๒ งาน ๒๔ ตารางวา ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าเนื้อที่ในส่วนที่เกินตามที่โจทก์นำชี้เขตในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.๔ อยู่ในโฉนดของโจทก์ส่วนของจำเลยนั้น ปรากฏจากการรังวัดว่าวัดได้ในคราวพิพาทนี้ ๘ ไร่ ๑ งาน ๙๕ ตารางวา เนื้อที่ตามโฉนดเดิมของจำเลยมี ๙ ไร่ ดังนั้น เนื้อที่ของจำเลยในโฉนดจึงขาดหายไป ๒ งาน ๕ ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้เคียงกับส่วนที่เกินจากโจทก์ ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่าเนื้อที่ในส่วนที่เกินจากโจทก์ดังกล่าวแล้ว เป็นที่อยู่ในโฉนดของฝ่ายจำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เอกสารหมาย จ.๔ ที่ศาลชั้นต้นใช้ประกอบคำวินิจฉัยให้โจทก์แพ้คดีนั้น ต่อมากรมที่ดินจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งต่อศาลแพ่งว่าตามเอกสารหมาย จ.๔ คำนวณที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่รังวัดทำแผนที่พิพาทผิดพลาดไป ๒๗๘ ตารางวา ความจริงที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีเพียง ๙ ไร่ ๑ งาน ๒๒ ตารางวาเท่านั้น แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ผู้ทำการรังวัดและคำนวณแผนที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.๔ ทำการโดยประมาทเลินเล่อ เพราะจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เชี่ยวชาญการทำแผนที่ มิได้ใช้ความรู้ความระมัดระวังตามควร เป็นเหตุให้ศาลฟังว่าที่พิพาทมิได้อยู่ในโฉนดที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ ๒ คำนวณผิดพลาดไปว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เกินไปถึง ๒ งาน ๒๔ วา ความจริงที่ดินของโจทก์มิได้เกินไปแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการในกรมที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน