คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 366/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่มีโทษประหารชีวิต ถ้าจำเลยไม่มีทนาย ศาลต้องตั้งทนายให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีโทษประหารชีวิตเมื่อศาลตั้งทนายให้แล้วแต่จำเลยไม่ต้องการทนายก็เป็นเรื่องของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นไม่ตั้งทนายให้จำเลยจึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 65, 66, 67, 102 ริบของกลางจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2525 มาตรา 65 วรรคสอง,66 วรรคแรก, 102 ฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายให้ลงโทษประหารชีวิตฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 กึ่งหนึ่งแล้ว ฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่าย จำคุก 30 ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 35 ปี ของกลางทั้งหมดให้ริบ คำขออื่นให้ยกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง,66 วรรคแรก, 102 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 65 วรรคสองจำคุก 30 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 16มีนาคม 2533 ภายหลังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2532 มาตรา 5ใช้บังคับ ในวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายโดยกล่าวว่าถ้าจำเลยไม่มีทนายแต่ต้องการทนาย ศาลก็จะตั้งทนายให้ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนาย ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง แล้วศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนาย ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษประหารชีวิต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 ที่แก้ไขใหม่ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายให้อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ที่ศาลต้องสอบถามว่าจำเลยต้องการทนายหรือไม่ด้วย ดังนั้น โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เมื่อจำเลยไม่มีทนาย ศาลก็ต้องตั้งทนายให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต เมื่อศาลตั้งทนายให้แล้วแต่จำเลยไม่ต้องการก็เป็นเรื่องของจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นไม่ตั้งทนายให้จำเลยการพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายให้จำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”

Share