แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิตซึ่งตามใบคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตได้กำหนดเงื่อนไขของผู้ถือบัตรไว้ในข้อ 6 ว่าผู้ถือบัตรและหรือเจ้าของบัญชีจะต้องตรวจสอบรายการที่ธนาคารได้หักบัญชีไปแล้วนั้นทุกครั้งที่ได้รับใบแจ้งรายการหักบัญชี ถ้ามีรายการใดผิดพลาดผู้ถือบัตรและหรือเจ้าของบัญชีจะต้องรีบแจ้งให้ธนาคารทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการหักบัญชี โจทก์ได้ส่งต้นฉบับใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิตให้จำเลยเพื่อตรวจสอบและคัดค้านตามที่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขกันไว้นี้แล้วตามประเพณีที่ธนาคารปฏิบัติต่อลูกค้าทั่ว ๆ ไป ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีข้อความปรากฎถึง วัน เดือน ปี รหัส ประเภทการใช้บัตรสถานที่ใช้บัตรซึ่งมีรายละเอียดเพียงพอที่จำเลยจะตรวจสอบและคัดค้านได้ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใดส่วนรายการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยอันเนื่องมาจากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยในบัญชีเดินสะพัดก็เป็นสมุดบัญชีของธนาคารซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบได้ ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องเช่นกัน จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ได้ แม้โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานการใช้บัตรเครดิตของจำเลยมานำสืบให้ได้ครบจำนวนหนี้ตามฟ้องก็ตาม และเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 6 หาได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ โจทก์ได้ส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยเพื่อตรวจสอบและคัดค้านตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตก่อนแล้ว จึงเป็นการอ้างอิงเอกสารที่อยู่ในครอบครองของจำเลยโจทก์จึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(2) เดิมและถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นตามมาตรา 93(2) ซึ่งศาลจะอนุญาตให้นำสำเนามาส่งก็ได้การที่ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารหมาย จ.6 เป็นพยานหลักฐานในคดีจึงชอบแล้ว การที่โจทก์มิได้ทำคำแปลเอกสารหมาย จ.6 ส่วนที่สำคัญขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศไว้นั้น เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรคสามหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลไม่ได้สั่งโจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปลและศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่18 มกราคม 2533 จำเลยขอสินเชื่อบัตรเครดิตประเภทบัตรโพธิ์เงินจากโจทก์สาขาภูเก็ต เพื่อใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสด โดยโจทก์จ่ายค่าสินค้าและบริการแทนจำเลยไปก่อน และใช้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 537-3-02309-6 ของจำเลยที่เปิดไว้กับโจทก์ สาขาภูเก็ต หักทอนบัญชีระหว่างโจทก์จำเลย และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยโดยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขณะทำสัญญาและอัตราที่เปลี่ยนแปลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับแต่วันที่24 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2533 ร้อยละ 15 ต่อปีวันที่ 19 มีนาคม 2533 ร้อยละ 16.5 ต่อปี ตลอดมาเพียงวันที่ 6กรกฎาคม 2533 จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน 76,132.11 บาท โจทก์ให้ทนายความทวงถามแล้ว และครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าววันที่ 28สิงหาคม 2533 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 85,481.61 บาทซึ่งจำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 115.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 85,597.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 85,481.61 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยขอบัตรสินเชื่อเครดิตประเภทโพธิ์เงินกับโจทก์จริง แต่ไม่ได้ใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือเบิกเงินสดโจทก์จึงไม่มีสิทธิหักทอนในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 537-3-02309-6ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 85,597.51 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี จากต้นเงิน 85,481.61 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ขอสินเชื่อบัตรเครดิตประเภทบัตรโพธิ์เงินจากธนาคารโจทก์ สาขาภูเก็ต และได้รับบัตรไปแล้วเพื่อใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการต่าง ๆ รวมทั้งใช้เบิกเงินสดในวงเงิน 20,000 บาท โดยเมื่อจำเลยนำไปซื้อสินค้าหรือใช้ชำระค่าบริการ ผู้ขายจะเรียกเก็บเงินจากโจทก์เมื่อโจทก์ชำระให้แล้วจะนำไปหักชำระจากบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 537-3-02309-6 ของจำเลยหากจำเลยเป็นลูกหนี้ยอมให้ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่า จำเลยได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวซื้อสินค้า และชำระค่าบริการต่าง ๆ โดยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามฟ้องจริงหรือไม่ พยานโจทก์มีนายสมนึก ศรีรักษาสินธุ์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสินเชื่อบัตรเครดิตเบิกความว่า จำเลยได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าซึ่งต่อมาร้านค้าได้นำมาเรียกเก็บเงินจากโจทก์ หลักฐานบางส่วนปรากฎตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ได้นำไปหักทอนจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.11 รายละเอียดการหักทอนบัญชีปรากฎตามเอกสารหมาย จ.6 ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า หลังจากที่ได้รับบัตรเครดิตมาแล้วจำเลยไม่เคยใช้บัตรเครดิตเลย เพราะจำเลยยื่นคำขอไว้ในวงเงิน100,000 บาท แต่โจทก์อนุมัติให้เครดิตจำเลยเพียง 20,000 บาททำให้จำเลยไม่พอใจ ลายมือชื่อผู้ถือบัตรในเอกสารหมาย จ.5 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย เพราะในการใช้บัตรเครดิตของจำเลยจะลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษนั้น เห็นว่า ถ้าหากจำเลยไม่ต้องการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ก็น่าจะปฏิเสธไม่ยอมรับบัตรมาเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้เมื่อนำลายมือชื่อผู้ถือบัตรในเอกสารหมาย จ.5 มาเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยในใบคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.3แล้ว เห็นได้ว่า มีรูปลักษณะของตัวอักษรและลักษณะการเขียนคล้ายคลึงกับแทบไม่ผิดเพี้ยน ที่จำเลยอ้างว่าหากเป็นการใช้บัตรเครดิตของจำเลยจะลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษนั้น ในคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.3 ในช่องผู้ถือบัตรซึ่งกำหนดว่าจะต้องลงลายมือชื่อให้เหมือนกับที่ปรากฎบนบัตร คงมีลายมือชื่อของจำเลยเป็นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว ส่วนที่มีลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษด้วยนั้น ปรากฎอยู่ในช่องผู้ถือบัตรและเจ้าของบัญชีซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์อ้างว่าเพื่อให้ตรงกับคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น หาได้กำหนดให้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษในการใช้บัตรไม่ปัญหาว่าโจทก์มีภาระหน้าที่จะต้องนำหลักฐานการใช้บัตรเครดิตตามเอกสารหมายจ.5 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์มานำสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนให้ได้จำนวนหนี้ครบตามฟ้อง แต่ปรากฎว่าโจทก์อ้างส่งเอกสารหมาย จ.5เพียง 3 ฉบับ เท่านั้น ซึ่งหาได้มีจำนวนเงินครบตามฟ้องไม่ จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริงตามที่กล่าวอ้างนั้น เห็นว่า โจทก์ได้นำหลักฐานการใช้บัตรเครดิตไปลงรายการไว้ในเอกสารหมาย จ.6และนำไปหักทอนบัญชีในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.11ซึ่งโจทก์อ้างว่าได้ส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยแล้วเพื่อให้จำเลยคัดค้านและนำเงินเข้าหักทอนบัญชี ส่วนเอกสารหมาย จ.5นั้น เมื่อจำเลยใช้บัตรเครดิต ทางร้านค้ามอบต้นฉบับให้จำเลยและเก็บสำเนาแผ่นแรกไว้ ส่วนสำเนาแผ่นที่ 2 ร้านค้าจะส่งไปเก็บเงินจากโจทก์ จึงเป็นเอกสารที่จำเลยมีอยู่และทราบดีอยู่แล้ว ฝ่ายจำเลยปฏิเสธว่า ไม่เคยได้รับรายการใช้บัตรเครดิตตามเอกสารหมาย จ.6เห็นว่าเอกสารหมาย จ.6 เป็นใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิต ซึ่งตามใบคำขอสินเชื่อบัตรเครดิต เอกสารหมาย จ.3 ได้กำหนดเงื่อนไขของผู้ถือบัตรไว้ในข้อ 6 ว่าผู้ถือบัตรและเจ้าของบัญชีจะต้องตรวจสอบรายการที่ธนาคารได้หักบัญชีไปแล้วนั้นทุกครั้งที่ได้รับใบแจ้งรายการหักบัญชีถ้ามีรายการใดผิดพลาดผู้ถือบัตรและหรือเจ้าของบัญชีจะต้องรีบแจ้งให้ธนาคารทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการหักบัญชี จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยเพื่อตรวจสอบและคัดค้านตามที่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขกันไว้นี้แล้วจริงตามประเพณีที่ธนาคารปฏิบัติต่อลูกค้าทั่ว ๆ ไป ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวข้อความมีปรากฎถึง วัน เดือน ปี รหัส ประเภทการใช้บัตร สถานที่ใช้บัตรและจำนวนเงินตรงกับเอกสารหมาย จ.5 โดยคัดลอกรายการมาจากเอกสารหมาย จ.5 มารวมลงไว้ จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จำเลยจะตรวจสอบและคัดค้านได้ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใดส่วนรายการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยอันเนื่องมาจากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยในบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.11 นั้น ก็เป็นสมุดบัญชีของธนาคารซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบได้ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องเช่นกัน จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ได้ แม้โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานการใช้บัตรเครดิตของจำเลยดังเช่นเอกสารหมายจ.5 มานำสืบให้ได้ครบจำนวนหนี้ตามฟ้องก็ตาม ที่จำเลยอ้างว่าการคัดค้านภายใน 7 วันนั้น ไม่ใช่ขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติ(คัดค้าน) ก็ให้ถือว่ายอมรับ กลับเป็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบที่โจทก์กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นมาเองเพื่อใช้ในการปิดปากลูกค้าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวหาได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริงตามฟ้อง
ปัญหาต่อไปว่า โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยก่อนสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 วรรคแรก เดิม ทั้งเป็นเพียงสำเนาเอกสาร มิใช่ต้นฉบับจึงต้องห้ามมิให้รับฟังนั้น ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ได้ส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยเพื่อตรวจสอบและคัดค้านตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตก่อนแล้ว จึงเป็นการอ้างอิงเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(2)(เดิม) และถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ซึ่งศาลจะอนุญาตให้นำสำเนามาส่งก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารหมายจ.6 เป็นพยานหลักฐานในคดีจึงชอบแล้ว ส่วนข้อที่ว่าเอกสารหมาย จ.6ส่วนที่สำคัญทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ โจทก์มิได้ทำคำแปลไว้ด้วยนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม หรือไม่ก็ได้เมื่อศาลไม่ได้สั่ง โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปลและศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น