แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมว่า จำเลยที่ 3 ตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ โดยโจทก์ยอมชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายใน 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญาโดยจะชำระในวันจดทะเบียนโอน โจทก์จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ทราบล่วงหน้า 7 วัน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบแล้วไม่ไปตามนัดให้โจทก์นำเงินมาวางศาลแล้วนำหลักฐานการรับเงินของศาลไปดำเนินการจดทะเบียนได้ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ดำเนินการบังคับคดีให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระเงิน2,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อปรากฏว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมีข้อขัดข้องเพราะจำเลยที่ 3 ซึ่งไปอยู่ต่างประเทศได้นำโฉนดที่ดินตามฟ้องไปด้วย เจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการออกใบแทนโฉนดตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของกรมที่ดิน การที่โจทก์มิได้วางเงินกับศาลจึงไม่เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงยังไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมว่า จำเลยที่ 3ตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้โจทก์และโจทก์ยอมชำระราคาที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 2,300,000 บาท ภายในกำหนด 4 เดือน นับแต่วันทำสัญญายอมโดยต้องชำระในวันจดทะเบียนโอนต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 3ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนให้และไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้เพราะโฉนดที่ดินอยู่ที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามและได้ความว่าจำเลยที่ 3ไปอยู่ต่างประเทศโดยนำโฉนดที่ดินไปด้วย ศาลได้มีหนังสือให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดให้ ระหว่างดำเนินการออกใบแทนโฉนดตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของกรมที่ดิน จำเลยที่ 1 และที่ 2ยื่นคำขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์
โจทก์ยื่นคำร้องว่า กรณียังอยู่ระหว่างขั้นตอนการออกใบแทนโฉนด การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ยังทำไม่ได้ โจทก์ยังไม่ต้องชำระเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีและงดการบังคับคดีไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่าไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหมายบังคับคดีและงดการบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความมีว่า ข้อ 1. จำเลยที่ 3 ตกลงทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญายอม หากจำเลยที่ 3 ไม่ไปทำการจดทะเบียนโอนดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 3 ข้อ 2. โจทก์ยอมชำระราคาที่ดินจำนวน 2,300,000 บท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายใน 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญาโดยจะชำระในวันจดทะเบียนการโอนต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งโจทก์จะแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปตามนัดให้โจทก์นำเงินมาวางศาลแล้วนำหลักฐานการรับเงินของศาลพร้อมคำพิพากษาของศาลไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด 4 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ยังไม่ไปรับโอนก็ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเงินไปจากศาลได้ หากไม่ปฏิบัติให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีให้โจทก์รับโอนที่ดินและชำระเงิน 2,300,000 บาท ดังนี้ เห็นได้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคู่กรณีได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติต่อกันเป็นลำดับ ๆ ไป ซึ่งคู่ความจะต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนทีละขั้น ๆ กล่าวคือ ขั้นตอนที่หนึ่งตามสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 ตอนต้นเป็นเรื่องการโอนที่ดินและชำระเงินโดยจำเลยที่ 3 จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญายอมให้โจทก์ภายใน 15 วัน หากจำเลยที่ 3 ไม่ไปทำการจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 3 และโจทก์จะต้องชำระเงินตามสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันจดทะเบียนการโอนโดยโจทก์จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน เมื่อขั้นตอนที่หนึ่งนี้ได้ดำเนินไปครบถ้วนแล้วจึงเป็นขั้นตอนที่สอง ซึ่งกำหนดเงื่อนไขต่อเนื่องกันไปตามลำดับตามข้อความในตอนต่อไปของสัญญาข้อ 2. กล่าวโดยย่อก็คือเมื่อโจทก์ได้แจ้งวันนัดโอนที่ดินต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปตามนัดจึงจะต้องมีการวางเงินแล้วโจทก์ไปโอนเอง และถ้าไม่วางเงินจึงจะให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ที่จะบังคับให้โจทก์ไปรับโอนและชำระเงิน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ไปอยู่ต่างประเทศไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน อันเป็นการผิดสัญญาไปแล้ว และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2533 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกโฉนดที่ดินจากจำเลยที่ 3 มาเพื่อโจทก์จะได้ไปดำเนินการโอนที่ดินตามสิทธิของโจทก์ในสัญญาข้อ 2 ที่ว่า “หากจำเลยที่ 3 ไม่ไปทำการจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 3” ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ออกคำสั่งเรียกโฉนดที่ดินให้โจทก์ตามขอ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมส่งโฉนดที่ดินให้ ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2533 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือไปถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินเพื่อจะได้โอนที่ดินตามคำพิพากษาและศาลชั้นต้นก็มีหนังสือให้ ซึ่งการกระทำของโจทก์นี้ยังอยู่ภายในกำหนด 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญาอันเป็นการแสดงว่าโจทก์ได้พยายามที่จะปฏิบัติตามสัญญาตลอดมา นอกจากนี้โจทก์ยังได้กล่าวในคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2534 ว่าจนบัดนี้การออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินยังไม่เสร็จ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของกรมที่ดิน อันแสดงว่าเหตุที่ยังมิได้โอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นมิใช่ความผิดของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ผิดสัญญา และโจทก์กำลังดำเนินการตามสัญญาข้อ 1 โดยโจทก์จะถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 และจะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยใช้ใบแทนโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินตามข้อความตอนต้นของสัญญาข้อ 2. โดยโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติสองประการคือ ประการที่หนึ่งต้องแจ้งวันที่จะโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย7 วัน และประการที่สองโจทก์จะต้องชำระเงิน 2,300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันโอนทะเบียนต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งหน้าที่สองประการนี้โจทก์ยังมิได้ปฏิบัติเพราะยังมิได้รับใบแทนโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของมา การโอนที่ดินยังไม่อาจกระทำได้เมื่อโจทก์แจ้งวันโอนที่ดินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตามนัดและโจทก์ชำระเงินเรื่องก็สิ้นสุดกัน แต่ถ้าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปตามนัดจึงจะต้องนำข้อความตอนท้ายของสัญญาข้อ 2 มาใช้บังคับกล่าวคือโจทก์จึงจะมีหน้าที่ต้องวางเงินต่อศาล เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่เป็นไปดังกล่าวคือยังมิได้มีการนัดโอนที่ดินแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปตามนัดโจทก์จึงยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องวางเงินค่าที่ดินต่อศาล ฉะนั้นการที่โจทก์มิได้วางเงินต่อศาล จึงยังไม่เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2533 จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 22พฤศจิกายน 2533