คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลและรู้ว่าทรัพย์มรดกจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่า ๆ กัน แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง กลับโอนที่ดินดังกล่าวให้ตนเองและโอนต่อให้ ส. เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเองและโอนต่อให้ผู้อื่นโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่โจทก์ จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก,354

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก, 354 ให้จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นมารดาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุพจน์ชัย ครุฑะสูต ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 805/2533 ต่อมาจำเลยได้โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 853 และ 1610 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.4 และ จ.6อันเป็นทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งของนายสุพจน์ชัยให้แก่ตนเอง แล้วโอนให้แก่เด็กชายสุธีระพงศ์ ครุฑะสูต บุตรของนายสุพจน์ชัยไปอีกทอดหนึ่งปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน” ซึ่งการกระทำอันจะเป็นการรับรองบุตรตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเป็นการกระทำของบิดาโดยตรงแต่ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า การแจ้งออกสูติบัตรตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 นายสุพจน์ชัยมิได้กระทำด้วยตนเองแต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่านายสุพจน์ชัยได้รับรองโจทก์เป็นบุตรแล้วยังไม่ได้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานตามกฎหมายนั้น เห็นว่า จากคำเบิกความของนางสุธาทิพย์ เลาวกุล มารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ประกอบสูติบัตร โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาเอกสารหมาย จ.1 สูติบัตรสำนักงานทะเบียนเขตคลองเตยเอกสารหมาย จ.2 และภาพถ่ายหมาย จ.5เป็นที่เชื่อได้ว่า นายสุพจน์ชัยได้รับรองโจทก์ว่าเป็นบุตรของตนอันเกิดจากนางสุธาทิพย์ หากโจทก์มิใช่บุตรของนายสุพจน์ชัยจริงแล้ว นายสุพจน์ชัยคงต้องคัดค้านการเป็นบิดาของโจทก์ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งการเกิดของโจทก์มาแต่แรก เมื่อสูติบัตรตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นเอกสารมหาชนได้ลงข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นแน่ชัดว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสุพจน์ชัย จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยแท้จริงและถูกต้อง จำเลยเองก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบหักล้างเอกสารหมาย จ.2 ได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายใช้ เลาวกุลและนางวันเพ็ญ เลาวกุล บิดามารดาของนางสุธาทิพย์ ซึ่งเป็นตาและยายของโจทก์ว่า ก่อนที่นางสุธาทิพย์จะคลอดโจทก์นั้น จำเลยได้เรียกนายใช้และนางวันเพ็ญไปเจรจาตกลงกันที่บ้านของจำเลยถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายสุพจน์ชัยกับนางสุธาทิพย์ เมื่อนางสุธาทิพย์คลอดโจทก์แล้วจำเลยยังเคยรับโจทก์ไปเลี้ยงดูที่บ้านของจำเลยเป็นครั้งคราวทั้งตามภาพถ่ายหมาย จ.5 ภาพที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ปรากฏภาพโจทก์นางสุธาทิพย์ นายสุพจน์ชัย จำเลย นายตี๋น้อย แซ่ตั้ง และนางสุพรรณี ครุฑะสูต สามีและบุตรสาวของจำเลยอยู่ด้วย จำเลยเองยังสวมสร้อยคอให้โจทก์เพื่อเป็นการรับขวัญ แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัวเป็นอย่างดี พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักในการรับฟังว่า จำเลยทราบดีว่าโจทก์เป็นบุตรของนายสุพจน์ชัยอันเกิดจากนางสุธาทิพย์ โดยนายสุพจน์ชัยรับรองโจทก์เป็นบุตรโดยแจ้งการเกิดให้ใช้นามสกุลและเลี้ยงดูโจทก์อย่างเปิดเผยจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดาน มีสิทธิได้รับมรดกของนายสุพจน์ชัยอยู่ด้วยผู้หนึ่งที่จำเลยนำสืบพยานหลักฐานว่าก่อนถึงแก่กรรม นายสุพจน์ชัยมีภรรยาคนเดียวชื่อนางกัลยาเหมือนอินทร์ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ เด็กชายสุธีระพงศ์ครุฑะสูต ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ล.1 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยจึงโอนที่ดินและรถจักรยานยนต์ทรัพย์มรดกของนายสุพจน์ชัยให้แก่เด็กชายสุธีระพงศ์ไป โดยจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์เป็นบุตรของนายสุพจน์ชัย ไม่อาจฟังหักล้างคำพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและรู้ว่าทรัพย์มรดกของนายสุพจน์ชัยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายสุพจน์ชัยทุกคนเท่า ๆ กันแต่จำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ กลับโอนที่ดินดังกล่าวให้ตนเองและโอนต่อให้เด็กชายสุธีระพงศ์เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเองและโอนให้แก่เด็กชายสุธีระพงศ์อีกทอดหนึ่งโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องชอบแล้วแต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ไปแล้วจำนวน 187,035 บาทตามใบรับเงินของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 อันเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้แบ่งทรัพย์มรดกของนายสุพจน์ชัย ของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 667/2534คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 677/2535 ระหว่างเด็กหญิงศุจิกา ครุฑะสูตโดยนางสุธาทิพย์ เลาวกุล ผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์นางชัชนี ครุฑะสูต จำเลย ปรากฏตามสำเนาคำฟ้อง และคำพิพากษาเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งโจทก์มิได้แก้ฎีกาคัดค้านจึงถือว่าจำเลยได้บรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์แล้วประกอบกับจำเลยก็มิเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ปัจจุบันอายุก็มากแล้ว ทั้งยังถูกขังระหว่างฎีกาเป็นเวลานานพอสมควรพอที่จำเลยจะรู้สำนึกในการกระทำผิดของตน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำเลยเพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นเป็นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share