คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กฎกระทรวงฉบับที่ 173(พ.ศ. 2530) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีข้อความระบุว่า เงินได้ของชาวไร่อ้อยที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ต้องเป็นเงินได้ที่เกิดจากการขายอ้อยให้แก่โรงงานในระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 30กันยายน 2530 ไม่ได้ระบุให้ถือเอาวันเวลาที่ได้รับเงินจากการขายอ้อยมาเป็นข้อพิจารณาเพื่อยกเว้นภาษีด้วยดังนั้นจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นค่าอ้อยที่โจทก์ซื้อมาจากชาวไร่อ้อยในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 3 มีนาคม2530 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มจำนวน 583,781.18 บาท ประจำปี 2528-2529 ปี 2529-2530 และปี 2530-2531 ของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 696,888.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 583,781.18 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตลอดจนการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะในส่วนที่โจทก์รับผิดชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ระหว่างเดือนตุลาคม 2530 ถึงเดือนธันวาคม2530 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 108,495.12 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับวันที่โจทก์จ่ายเงินค่าอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ในปี 2530ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และในกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินแก่โจทก์ในกรณีที่การประเมินภาษีไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืนแก่โจทก์ด้วยหรือไม่ ซึ่งในปัญหาดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมในปี 2530 นั้น เป็นเงินค่าอ้อยที่โจทก์ซื้อจากไร่อ้อยในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2530 ซึ่งในระหว่างวันเวลาดังกล่าวได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 173 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้กำหนดเงินได้ของชาวไร่อ้อยตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้รับจากการขายอ้อยอันเกิดจากกสิกรรมที่ตนเองหรือครอบครัวได้ทำเองเป็นเงินได้ตาม (17) ของ มาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่ขายให้แก่โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 ซึ่งมีผลให้จำนวนเงินได้ที่เกิดจากการขายอ้อยดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้นเอง ดังนี้การที่จะวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับปัญหาที่ว่า จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 173 (พ.ศ. 2530) หรือไม่ ข้อนี้จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนั้นจะต้องเป็นเงินได้ที่ได้รับมาแล้ว มิใช่คำนึงถึงที่มาของเงินได้แต่เพียงอย่างเดียวนั้น เห็นว่าตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าเงินได้ของชาวไร่อ้อยที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีนั้น ต้องเป็นเงินได้ที่เกิดจากการขายอ้อยให้แก่โรงงานในระหว่างวันเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น หาได้ระบุให้ถือเอาวันเวลาที่ได้รับเงินจากการขายอ้อยมาเป็นข้อพิจารณาเพื่อยกเว้นภาษีด้วยไม่ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 ที่ว่า “เนื่องจากภาวะการณ์เกี่ยวกับการค้าน้ำตาลทราย น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลดิบยังไม่ดีขึ้น สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ของชาวไร่อ้อยตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้รับจากการขายอ้อยให้แก่โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้อันจะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้” แล้วก็จะทำให้เห็นเจตนารมณ์ของการประกาศใช้กฎกระทรวงได้เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีกว่า การที่จะพิจารณาว่าเงินได้ของชาวไร่อ้อยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของรายได้เป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าเป็นเงินที่ได้จากการขายอ้อยให้แก่โรงงานตามวันเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ก็ย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินดังกล่าวมาในเวลาใด เพราะถ้าหากถือเอาวันเวลาที่ชาวไร่อ้อยได้รับเงินมาเป็นข้อสำคัญในการพิจารณายกเว้นภาษีแล้ว อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายและไม่เป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อยที่ได้รับเงินค่าอ้อยจากโรงงานผู้ซื้อล่าช้าได้ดังนี้จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมในปี 2530 จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับจำนวนเงินดังกล่าว จึงไม่ชอบ”
พิพากษายืน

Share