คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16022/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีประจำปีภาษี 2551 ที่พิพาท โดยอาศัยค่ารายปีประจำปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 แต่เมื่อจำเลยกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางใหม่ตามบันทึกข้อความกรุงเทพมหานคร ที่ กท 1302/222 ก่อนที่โจทก์จะยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2551 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยควรจะนำอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษีพิพาทด้วย เนื่องจากเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมิน แม้บันทึกข้อความกรุงเทพมหานครดังกล่าวจะมิได้บังคับให้ต้องกำหนดค่ารายปีเท่ากับอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางและมิได้ห้ามให้กำหนดค่ารายปีสูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แต่เมื่อปรากฏตามบันทึกดังกล่าวว่าสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดให้อยู่กลุ่ม 2 เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม 1 ซึ่งมีค่ารายปีสูงกว่า จึงไม่อาจใช้ค่ารายปีของปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีในปีภาษีพิพาท การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1-2 ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีความกว้างมากกว่าถนนเจริญราษฎร์อันเป็นที่ตั้งโรงเรือนของโจทก์ และมีราคาประเมินที่ดินสูงกว่า ย่อมแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่โรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่ได้รับประโยชน์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สินของโจทก์สูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แม้จะเท่ากับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้ว แต่เนื่องจากทรัพย์สินของโจทก์มีสภาพเศรษฐกิจแตกต่างไปจากเดิม การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 และมาตรา 18 ประกอบแนวทางปฏิบัติตามบันทึกกรุงเทพมหานครดังกล่าว การกำหนดค่ารายปีและคำชี้ขาดจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดและให้จำเลยชำระเงิน 404,994 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย กำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ประจำปีภาษี 2551 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยประกาศอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางใหม่ในปี 2550 ซึ่งมีอัตราค่าเช่าต่ำลง แต่จำเลยกลับนำโรงเรือนของโจทก์ไปเทียบเคียงกับโรงเรือนอื่นเพื่อเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราเดิม ทั้งโรงเรือนที่จำเลยนำเทียบเคียงมีทำเลในทางการค้าและคมนาคมดีกว่าที่ตั้งโรงเรือนของโจทก์ รวมทั้งมีราคาประเมินของกรมที่ดินสูงกว่าด้วย จำเลยจึงต้องนำอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางมาใช้ให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่ารายปี หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ และวรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้มาตรา 18 บัญญัติว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา คดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินค่ารายปีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ประจำปีภาษี 2551 ที่พิพาทเท่ากับค่ารายปีประจำปีภาษี 2548 ถึงปีภาษี 2550 ซึ่งค่ารายปีประจำปีภาษี 2548 ถึง 2550 โจทก์ยินยอมชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่ได้มีการร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ อันเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้คำนวณค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งโจทก์จะต้องชำระในปีต่อมาคือประจำปีภาษี 2551 โดยอาศัยค่ารายปีประจำปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 18 แต่เมื่อจำเลยกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางใหม่ตามบันทึกข้อความกรุงเทพมหานคร ที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อใช้ประกอบในการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ก่อนที่โจทก์จะยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับทรัพย์สินของโจทก์ประจำปีภาษี 2551 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยควรจะนำอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษีพิพาทด้วย เนื่องจากราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยกำหนดขึ้นนั้นเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปี ซึ่งกำหนดเป็นอัตราขั้นต่ำต่อตารางเมตรต่อเดือน แม้บันทึกข้อความกรุงเทพมหานครดังกล่าวมิได้บังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยต้องกำหนดค่ารายปีเท่ากับอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางและมิได้ห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีในจำนวนที่สูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แต่เมื่อตามบันทึกดังกล่าวปรากฏว่าสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งมีค่ารายปีสูงกว่า จึงไม่อาจใช้ค่ารายปีของปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2551 ที่พิพาท ซึ่งมีค่ารายปีต่ำกว่าได้ ประกอบกับการกำหนด ค่ารายปีสำหรับอาคารประเภทเดียวกันอาจแตกต่างกันได้ หากปรากฏว่าโรงเรือนแต่ละแห่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่การใช้ประโยชน์ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์แตกต่างกัน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1-2 ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร แต่โรงเรือนที่นำเทียบเคียงดังกล่าวตั้งอยู่ติดถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีความกว้างมากกว่าถนนเจริญราษฎร์อันเป็นที่ตั้งโรงเรือนของโจทก์ และยังมีราคาประเมินของกรมที่ดินตารางวาละ 170,000 บาท ในขณะที่ที่ดินที่ตั้งโรงเรือนโจทก์มีราคาประเมินเพียงตารางวาละ 125,000 บาท ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาย่อมแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่โรงเรือนและที่ดินของโจทก์ได้รับประโยชน์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์สูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แม้จะเท่ากับค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว แต่เนื่องจากทรัพย์สินของโจทก์มีสภาพเศรษฐกิจแตกต่างไปจากเดิม การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและคำชี้ขาดจึงมิได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 8 และมาตรา 18 ประกอบกับแนวทางปฏิบัติตามบันทึกข้อความกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าว การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนโจทก์ประจำปีภาษี 2551 ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและคำชี้ขาดจึงไม่ชอบ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 25, 41 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ว่า โจทก์พอใจชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงินรวม 399,111 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับคืนภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ชำระเกินเป็นเงิน 266,074 บาท เท่านั้น ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับคืนภาษีโรงเรือนและที่ดินเกินไปกว่าคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ฉะนั้น การที่โจทก์มาฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 380,668 บาท จึงเกินกว่าที่ปรากฏในคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงินจำนวน 266,074 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้แก้ไขการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดตามฟ้อง โดยให้จำเลยชำระเงิน 266,074 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share