คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้นำสืบและอ้างส่งเอกสารหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นไปตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยมีโนตรีพับลิก และสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน รับรองความถูกต้อง จึงเป็นการมอบอำนาจถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องจากจำเลย โดยติดต่อผ่านบริษัท อ. นายหน้าของโจทก์ที่ประเทศไต้หวัน และบริษัท อ.ติดต่อจำเลยผ่านบริษัทซ. ตัวแทนของจำเลยที่ประเทศไต้หวัน บริษัทซ. มีหนังสือยืนยันการขายไปถึงโจทก์โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณและราคาสินค้าตรงตามรายการปริมาณและราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้า ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปให้โจทก์ โจทก์และบริษัท ซ. ได้ติดต่อกันทางโทรพิมพ์ กล่าวข้อความเกี่ยวข้องกับจำเลยอันมีสาระสำคัญเชื่อมโยงให้โจทก์กับจำเลยตกลงเข้าทำสัญญา กับทั้งผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคือจำเลย และการที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยฝ่ายจำเลยก็ได้รับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตของโจทก์ และส่งสินค้าให้โจทก์แล้วก็ได้แจ้งยอดหนี้ให้โจทก์ทราบโดยตรง พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าบริษัท ซ. เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับโจทก์จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันที่ศาลเมืองโคโลญมีนายเอริช ฮุงเงอเฮาเซ่น เป็นผู้จัดการและนายโยเคน นุยเคน เป็นตัวแทนจัดกิจการทั้งหมดของโจทก์บุคคลทั้งสองมีอำนาจร่วมกันกระทำการแทนโจทก์ และได้มอบอำนาจให้นายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ และหรือนายอภิชาติ จีระพันธุดำเนินคดีแทน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2527 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อสับปะรดกระป๋องในน้ำเชื่อมเจือจาง 24/20 ออนซ์ จำนวน18,750 ลัง ราคาลังละ 10.45 เหรียญสหรัฐอเมริกา จากจำเลยโดยติดต่อผ่านบริษัทซือหมิน โปรดักส์ จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ประเทศไต้หวัน มีข้อตกลงว่า จำเลยจะต้องส่งสับปะรดกระป๋องที่มีคุณภาพตามกฎหมายว่าด้วยอาหารของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ให้แก่โจทก์และโจทก์จะชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลย โดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้ จำเลยได้ส่งสับปะรดกระป๋องให้แก่โจทก์ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2527 เดือนละ 5 ตู้ ตู้ละ 1,250 ลัง รวม 12,500 ลังปรากฎว่าสับปะรดกระป๋องจำนวน 10,280 ลัง มีรสและกลิ่นเหมือนน้ำมันดีเซลเจือปนอยู่เป็นสินค้าที่ใช้บริโภคไม่ได้ ต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยอาหารของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมิให้จำหน่าย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในเดือนมิถุนายน 2528 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าคืนราคาสับปะรด 10,280 ลัง ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยแล้ว 107,426 เหรียญสหรัฐอเมริกา ค่านายหน้าที่โจทก์จ่ายให้นายหน้าของโจทก์ที่กรุงไทเป 1,074.26เหรียญสหรัฐอเมริกา ค่าธรรมเนียมรถตู้บรรทุกสินค้า 650.98เหรียญสหรัฐอเมริกา ค่าธรรมเนียมนำสินค้าเข้าและออกจากโรงพักสินค้ากับค่าเช่าโรงพักสินค้า 1,542.48 เหรียญสหรัฐอเมริกาค่าเก็บรักษาสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ 2,343.18 เหรียญสหรัฐอเมริกาค่าตรวจพิสูจน์สินค้า 63.12 เหรียญสหรัฐอเมริกา ค่าประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล 440.62 เหรียญสหรัฐอเมริกา และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากราคาสินค้าที่จำเลยจะต้องคืนให้โจทก์ในระหว่างผิดนัดอีก 1,236.13 เหรียญสหรัฐอเมริกา รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 115,776.77 เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อ 26.80 บาทเป็นเงิน 3,076,017.40 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 114,776.77เหรียญสหรัฐอเมริกาหรือ 3,076,017.40 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 107,426เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 2,879,016.80 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันศาลเมืองโคโลญไม่มีอำนาจหน้าที่รับการจดทะเบียนนิติบุคคล นายเอริซ ฮุงเงอเฮาเซ่น และนายโยเคน นุยเคน ไม่มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้นายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะและนายอภิชาติ จีระพันธุฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ใช่ลายมือชื่อของนายเอริซ ฮุงเงอเฮาเซ่น และนายโคเคน นุยเคน จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์ ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ สินค้าที่จำเลยส่งให้แก่โจทก์เป็นการส่งตามคำสั่งของบริษัทซือหมินโปรดักส์ จำกัดไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยสินค้าที่จำเลยส่งให้โจทก์เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีไม่มีความชำรุดบกพร่อง เป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องอาหารของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและเป็นไปตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับบริษัทซือหมินโปรดักส์ จำกัดที่โจทก์อ้างว่าสินค้าที่จำเลยส่งไปให้มีความชำรุดบกพร่องนั้น การดำเนินการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าโจทก์ดำเนินไปฝ่ายเดียวจำเลยไม่มีส่วนร่วมรับรู้ จึงฟังความเห็นของผู้ตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวมาเป็นมูลฐานในการฟ้องให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ ทั้งโจทก์ก็ไม่เคยแจ้งส่งคืนสินค้าที่จำเลยส่งไปให้จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาสินค้าคืน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป บางรายการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยไม่มีทางจะคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 111,732.26เหรียญสหรัฐอเมริกา แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีประเด็นตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายจาโคบีผู้จัดการฝ่ายอาหารกระป๋องของโจทก์ มาเบิกความประกอบหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ที่ศาลเมืองโคโลญ มีนายเอริช ฮุงเงอเฮาเซ่น ผู้จัดการ และนายโยเคน นุยเคนตัวแทนจัดกิจการทั้งหมดของโจทก์ ลงลายมือชื่อร่วมกันมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะและนายอภิชาติ จีระพันธุ ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งได้ทำขึ้นที่เมืองโคโลญ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อันเป็นเมืองต่างประเทศ มีโนตารีปับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันรับรองความถูกต้อง จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ และเอกสารหมายจ.1 จ.2 ฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน จำเลยฎีกาว่าตามกฎหมายไทยนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้จะต้องเป็นกรรมการเท่านั้น ผู้จัดการหรือตัวแทนจัดกิจการทั้งหมดไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำกัดได้ เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบและอ้างส่งเอกสารหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นไปตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยมีโนตารีปับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน รับรองความถูกต้องมาอันเป็นการมอบอำนาจถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม แล้ว
จำเลยฎีกาเป็นข้อสองในประเด็นที่ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับจำเลยหรือไม่ โจทก์มีนายจาโคบีเบิกความประกอบหนังสือยืนยันการซื้อขาย และใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ว่า ในเดือนกรกฎาคม 2527 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องจากจำเลยโดยติดต่อผ่านบริษัทเอ็นมาร์ทโปรดักส์ จำกัด นายหน้าของโจทก์ที่ประเทศไต้หวันและบริษัทเอ็นมาร์ทโปรดักส์จำกัด ติดต่อจำเลยผ่านบริษัทซือหมินโปรดักส์ จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ประเทศไต้หวันจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ และบริษัทซือหมินโปรดักส์ จำกัด ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยนั้น เห็นว่า เป็นการปฎิเสธลอย ๆ ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังเพราะตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งบริษัทซือหมินโปรดักส์จำกัด มีไปถึงโจทก์ มีเงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณและราคาสินค้าตรงกับรายการปริมาณและราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.5, จ.6 ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปให้โจทก์ โจทก์และบริษัทซือหมินโปรดักส์ จำกัด ได้ติดต่อกันทางโทรพิมพ์กล่าวข้อความเกี่ยวข้องกับจำเลยอันมีสาระสำคัญเชื่อมโยงให้โจทก์กับจำเลยอันมีสาระสำคัญเชื่อมโยงให้โจทก์กับจำเลยได้ตกลงเข้าทำสัญญากัน นอกจากนี้ตามคำแปลหนังสือยืนยันการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 2 ระบุว่า หมายเหตุ ข้อ 1เลตเตอร์ออฟเครดิตของผู้ซื้อต้องระบุรายละเอียดครบถ้วนผู้รับประโยชน์คือบริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย จำกัดเลขที่ 87 อาคารนายเลิศ ชั้น 8 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯประเทศไทย และต้องส่งถึงผู้ขายล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนวันที่ส่งของ ข้อ 6 เหตุสุดวิสัย ผู้ขายมีสิทธิอ้างเหตุสุดวิสัยในกรณีภัยธรรมชาติหรือการกระทำสุดวิสัย ซึ่งผู้ขายไม่สามารถควบคุมได้และในแผ่นที่ 3 ข้อ 6 ระบุว่าบุคคลผู้ขายดังกล่าวในหมายเหตุนั้นหมายถึงบริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทยจำกัด ซึ่งก็คือจำเลยนั้นเองที่เป็นผู้ขายตามเอกสารดังกล่าวหลังจากที่ได้มีการทำเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย อันเป็นการปฎิบัติตามเอกสารหมาย จ.4 นั่นเองนายพิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าได้รับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตของโจทก์ และได้ส่งสินค้าไปให้โจทก์ตามนั้น ซึ่งเป็นคำเบิกความสอดคล้องกับใบแจ้งหนี้ (อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.4 ที่ว่าเมื่อส่งสินค้าไปให้โจทก์แล้ว จำเลยก็ได้แจ้งยอดหนี้ให้โจทก์ทราบโดยตรง จากพฤติการณ์ดังกล่าวมาแล้ว จึงฟังได้ว่าบริษัทซือหมินโปรดักส์ จำกัด เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับโจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share