คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสของสามีโจทก์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก และจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของสามีโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ให้ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว็้มีสิทธิอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นผู้จะได้รับมรดกตามพินัยกรรม เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์พิพาทโดยตรง ทั้งถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย
เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทรัพย์ที่สามีได้มาระหว่างร้างกันไม่เป็นสินสมรส (อ้างฎีกาที่ 84/2497 และฎีกาที่ 991/2501)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสของสามีโจทก์ซึ่งแต่งงานกันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ จากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก และจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของสามีโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ทราบว่าโจทก์เป็นภริยาเจ้ามรดก ถ้าหากมีหลักฐานมาแสดงว่าเป็นทายาท ก็พร้อมจะจัดการแบ่งมรดกให้
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า หากโจทก์เป็นภริยาเจ้ามรดกจริง ก็เลิกร้างมากว่า ๒๗ ปีแล้วจำเลยที่ ๒ เป็นภริยาเจ้ามรดก และทรัพย์ ตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์และเจ้ามรดกมิได้ทิ้งร้างกันพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ให้โจทก์
จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไม่อุทธรณ์ คดีจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิโต้แย้งคำพิพากษานั้น ก็เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จะได้รับมรดกตามพินัยกรรม เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์พิพาทโดยตรง ทั้งถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย จำเลยที่ ๒ จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้เลิกร้างกับเจ้ามรดกแล้ว ทรัพย์พิพาทเจ้ามรดกได้มาระหว่างร้างกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งเป็นสินสมรส อ้างฎีกาที่ ๘๔/๒๔๙๗ และฎีกาที่ ๙๙๑/๒๕๐๑
พิพากษายืน

Share