คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะระบุว่า เป็นสัญญาที่ได้กระทำขึ้นมีกำหนดเป็นรายปี แต่ความในสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้ หรือจะต่ออายุสัญญาจ้าง ออกไปครั้งละ 1 ปี นานเท่าใดก็ได้ ดังนั้น เวลาที่กำหนดไว้ 1 ปีไม่มีผลบังคับอย่าง แท้จริงโจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีระยะเวลา การจ้างกำหนด ไว้แน่นอนอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้ เมื่อเลิกจ้าง
จำเลยมีหน้าที่ตามระเบียบที่ต้องจ่ายโบนัสให้โจทก์แม้จะมีสัญญาจ้างกำหนดว่าให้ถือว่าลูกจ้างยังอยู่ภายใต้กฎและระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่มีอยู่แล้วและหรือที่จะได้กำหนดขึ้นใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลงสำหรับลูกจ้างโดยเฉพาะเป็นบางครั้งบางคราวในกรณีพิเศษโดยฝ่ายบริหารของบริษัทก็ตาม ก็เป็นเพียงแต่ให้สิทธิจำเลยที่จะกำหนดขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบที่มีอยู่แล้ว หากยังมิได้แก้ไขก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเดิม จะไม่ปฏิบัติตามโดยอ้างว่ามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะไม่ให้โบนัสแก่โจทก์
เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลแล้ว การที่จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ครึ่งหนึ่งนั้น ไม่เป็นเหตุให้โจทก์กลับมีสิทธิขึ้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลอีกกึ่งหนึ่งให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้เงินเดือน ค่าอาหาร ค่ารับรองแขก ค่าพาหนะ รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 10,300 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสและค่ารักษาพยาบาลด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความเสียหาย จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมาย กับเงินโบนัสและค่ารักษาพยาบาล โจทก์เรียกร้องแล้วจำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน จำเลยบอกเลิกการจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนเงินโบนัสและค่ารักษาพยาบาล สัญญาจ้างมิได้ระบุว่าโจทก์มีสิทธิได้รับ ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมิใช่โรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตามสัญญาจ้าง และอยู่ในบังคับของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์ได้รับเงินเดือน ค่าอาหาร ค่ารับรองแขก และค่าพาหนะรวมเป็นเงินเดือนเดือนละ 10,050 บาท ถ้าโจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสจะได้รับ 15,000 บาท จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์เพียงครึ่งเดียวเป็นเงิน 3,178.50 บาท ที่เหลือไม่จ่ายให้ และไม่สืบพยานบุคคล

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 30,150 บาท โบนัส 15,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 3,178.50 บาทรวมเป็นเงิน 48,328.50 บาทให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาเรื่องค่าชดเชยนั้น เรื่องระยะเวลาการจ้างได้ระบุไว้ในสัญญาจ้างข้อ 4 ว่า “จนกว่าหรือเว้นแต่ท่านจะได้รับทราบจากฝ่ายบริหารของบริษัทฯ เป็นอย่างอื่น สัญญาจ้างระหว่างท่านและบริษัทฯ ฉบับนี้ ได้กระทำขึ้นมีกำหนดเป็นรายปี และตราบเท่าที่สภาพการจ้างของท่านยังเป็นรายปี การจ้างงานอาจจะสิ้นสุดลงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ ฝ่ายที่บอกเลิกจะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า 1 เดือน หรืออาจจ่ายค่าจ้างให้ 1 เดือน เป็นการตอบแทนทั้งนี้การบอกเลิกสัญญาไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุผลใด ๆ ให้ทราบ” และในข้อ 5 ว่า “เว้นแต่จะมีการเลิกจ้างดังระบุไว้ในข้อ 4 ข้างต้น บริษัทฯ อาจต่ออายุการจ้างของท่านออกไปอีกมีกำหนด 1 ปี ได้” ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ หรือต่ออายุสัญญาจ้างออกไปได้ครั้งละ 1 ปี นานเท่าใดก็ได้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน เวลาที่กำหนดไว้ 1 ปีนั้นไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีระยะเวลาการจ้างกำหนดไว้แน่นอน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ปัญหาเรื่องโบนัสนั้น จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อ 17 คือจ่ายโบนัสให้โจทก์ สัญญาข้อ 7 มีข้อความว่า “ยกเว้นดังที่ได้ระบุไว้ในข้อ 6 ข้างต้น ให้ถือว่าท่านยังคงอยู่ภายใต้กฎและระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่มีอยู่แล้ว และ หรือที่จะได้กำหนดขึ้นใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลง สำหรับท่านโดยเฉพาะเป็นบางครั้งบางคราวในกรณีพิเศษ โดยฝ่ายบริหารของบริษัทฯ”นั้นมิได้ให้สิทธิจำเลยที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนั้นสัญญาดังกล่าวเพียงแต่ให้สิทธิจำเลยที่จะกำหนดขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบที่มีอยู่แล้ว หากยังมิได้แก้ไขก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเดิม จะไม่ปฏิบัติตามโดยอ้างว่ามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขหาได้ไม่ คดีนี้จำเลยมิได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อ 17 ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายโบนัสให้โจทก์ จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามนั้น จำเลยไม่มีสิทธิที่จะไม่ให้โบนัสโจทก์

สำหรับปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลนั้น ระเบียบข้อ 13(3) ระบุไว้ว่า”ค่าเข้ารักษาในโรงพยาบาลนั้น พนักงานในระดับออฟฟิซเซอร์มีสิทธิเข้ารับการรักษาในชั้นหนึ่งของโรงพยาบาลรัฐบาลในประเทศ ในกรณีที่การรักษาพยาบาลหรือการผ่าตัดดังกล่าวไม่อาจกระทำได้ในโรงพยาบาลรัฐบาล แพทย์ประจำของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะแนะนำให้พนักงานไปทำการรักษาในโรงพยาบาลอื่นใดที่เชื่อถือได้ นอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น” เห็นว่าผู้ปฏิบัติตามระเบียบนี้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล ระเบียบไม่จำเป็นต้องระบุว่าผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบไม่มีสิทธิได้รับ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงพยาบาลที่โจทก์เข้ารักษามิใช่เป็นของรัฐบาล หรือเป็นโรงพยาบาลที่แพทย์ประจำของจำเลยกำหนดหรือแนะนำ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล การที่จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ครึ่งหนึ่งนั้นไม่เป็นเหตุให้โจทก์กลับมีสิทธิขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล 3,178.50 บาทให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share