คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ประกอบบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาที่อ้างว่า บาดแผลของผู้เสียหายซึ่งได้รับเป็นอันตรายสาหัสนี้ปรากฏว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงกระดูกเชิงกรานขวาหัก กระดูกไหปลาร้าเคลื่อน กระดูกซี่โครงแถวขวาหัก นายแพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่า จะต้องรักษาประมาณ 35 วัน ดังนี้แม้โจทก์จะนำคดีมาฟ้องหลังเกิดเหตุเพียง 6 วันแต่ตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าในระหว่างการรักษาตัวประมาณ 35 วันนั้นผู้เสียหายจะต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ฉะนั้นเมื่อพิจารณาบันทึกคำฟ้องประกอบรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ดังกล่าว ก็เพียงพอที่จะรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสแล้ว โจทก์หาจำเป็นต้องนำพยานสืบประกอบว่า ผู้เสียหายต้องทนทุกขเวทนาประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันจริงอีกไม่ (อ้างฎีกาที่ 195/2510)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยประมาทชนผู้เสียหายล้มลงบาดเจ็บสาหัสทนทุกขเวทนา ประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วัน โดยต้องรักษาตัว 35 วัน ได้รับบาดเจ็บกระดูกเชิงกราน กระดูก ชายโครงหัก กระดูกไหปลาร้าเคลื่อน ดังรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบกแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ให้จำคุกจำเลยหนึ่งปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทนทุกขเวทนาประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และตามผลของการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ปรากฏว่าผู้เสียหายจะต้องรักษาตัวประมาณ 35 วัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2510 เวลากลางคืน แพทย์ได้ทำการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้เสียหายในคืนนั้นเอง หลังจากเกิดเหตุ 6 วัน ผู้ว่าคดีได้นำตัวจำเลยมาฟ้องด้วยวาจาและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องผู้ว่าคดีไม่ได้นำพยานมาสืบประกอบว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องทนทุกข์เวทนาประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันจริงตามผลของการตรวจบาดแผลของแพทย์หรือไม่ ดังนั้นการที่จำเลยได้ให้การรับสารภาพในข้อหาฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการให้การรับสารภาพนอกเหนือความจริง จะลงโทษจำเลยไม่ได้ คดีฟังลงโทษจำเลยได้เพียงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เท่านั้น พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ให้ปรับจำเลย 500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพโดยดี ปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลย 250 บาท จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัวจำเลยไป นอกจากที่แก้นี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ประกอบบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาที่อ้างว่าบาดแผลของผู้เสียหาย ซึ่งได้รับเป็นอันตรายสาหัสนั้นปรากฏว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงกระดูกเชิงกรานขวาหัก กระดูกไหปลาร้าขวาเคลื่อน กระดูกซี่โครงแถบขวาหัก นายแพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่าจะต้องรักษาประมาณ 35 วัน ตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่า ในระหว่างการรักษาตัวประมาณ 35 วันนั้นผู้เสียหายจะต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ฉะนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำฟ้องประกอบรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ดังกล่าวก็เพียงพอที่จะรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสแล้วโจทก์หาจำเป็นต้องนำพยานสืบประกอบว่า ผู้เสียหายต้องทนทุกขเวทนาประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันจริงอีกไม่ ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 195/2510

พิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ

Share