คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1600/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมการยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์นายจ้าง โดยเข้าร่วมประชุมปรึกษากับลูกจ้างอื่นแม้จะไม่มีชื่อและลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อโจทก์ ก็ถือได้ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องด้วย การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 121(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 13 และที่ 14 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการกล่าวหาโจทก์เลิกจ้างจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 วินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 13 เป็นเงิน 41,300 บาท จำเลยที่ 14 เป็นเงิน 45,900 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองฝ่ายเดียวแล้วฟังว่า จำเลยทั้งสองมีส่วนร่วมในการเตรียมการยื่นข้อเรียกร้องและโจทก์ทราบเรื่องนี้ การเลิกจ้างมิได้ระบุเหตุผล ทั้งเหตุแห่งการยื่นข้อเรียกร้องผ่านพ้นไปไม่นานก็มีการเลิกจ้างเป็นไปได้ที่โจทก์ไม่พอใจจำเลยทั้งสองซึ่งมีบทบาทในการเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เชื่อว่าจำเลยทั้งสองร่วมประชุมกับลูกจ้างเพื่อเตรียมการจัดทำข้อเรียกร้อง แต่ลูกจ้างไม่ให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนลูกจ้างเพื่อเจรจาข้อเรียกร้องเพราะเกรงว่าโจทก์จะกลั่นแกล้งนั้นปราศจากเหตุผล เพราะจำเลยทั้งสองได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์โดยตรง ทั้งข้อเสนอของลูกจ้างโจทก์รับฟังและนำไปจดทะเบียนต่อกรมแรงงาน ไม่เคยใช้มาตราการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลขัดต่อกฎหมาย การที่โจทก์เลิกจ้างโดยไม่ระบุเหตุผลเพราะไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าต้องแจ้งเหตุผลและเพราะความหวังดีของโจทก์ที่เห็นแก่อนาคตของจำเลยทั้งสองในการไปทำงานที่อื่น โจทก์เลิกจ้างเพราะจำเลยทั้งสองกระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของโจทก์เป็นอาจิณและจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2525

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้การว่า จำเลยที่ 12 มิได้ร่วมเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 12 คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย เห็นว่า โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยทั้งสองโดยมิได้ระบุเหตุผลการเลิกจ้าง ทั้งมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบด้วยวาจา โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 13 ขัดขวางการผลิต ดึงงาน จำเลยที่ 14 มีทัศนคติไม่ดีต่อโจทก์ ยุยงให้ลูกจ้างกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2523 และไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า จำเลยทั้งสองทำผิดจริง คงมีหนังสือตักเตือนจำเลยที่ 13 เรื่องการพักผ่อนเกินเวลาที่กำหนดเท่านั้น แต่มีหลักฐานแจ้งชัดว่า จำเลยทั้งสองเคยเป็นผู้นำของลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ในปี พ.ศ. 2523 และต่อมาปี พ.ศ. 2524 มีส่วนร่วมประชุมปรึกษาหารือกับลูกจ้างอื่นและจัดทำข้อเรียกร้องเพื่อยื่นต่อโจทก์โดยเป็นที่ปรึกษาและทราบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดีแต่เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของโจทก์กลั่นแกล้งลูกจ้างทั้งห้าที่เข้าร่วมประชุมจึงไม่ให้จำเลยทั้งสองลงชื่อในหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องของพนักงานที่ยื่นต่อโจทก์นายเสรี โหสกุล กรรมการผู้จัดการของโจทก์ทราบเรื่องดีเพราะเรียกจำเลยทั้งสองไปสอบถามจึงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เลิกจ้างเพราะไม่พอใจที่มีส่วนร่วมในการเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าเพราะเห็นแก่อนาคตของจำเลยทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของโจทก์สำเร็จลุล่วงด้วยดีและซื่อสัตย์ตลอดมา ไม่เคยขัดคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของโจทก์และไม่เคยกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

จำเลยที่ 13 และที่ 14 ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างเนื่องจากจำเลยทั้งสองร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2523สามารถตกลงกันได้ ประมาณเดือนกันยายน 2524 ตัวแทนลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์อีกครั้งหนึ่ง จำเลยทั้งสองเป็นที่ปรึกษาของตัวแทนว่ายื่นข้อเรียกร้องข้อเรียกร้องนั้นสามารถตกลงกันได้ แต่กรมแรงงานไม่รับจดทะเบียนให้ อ้างว่าข้อเรียกร้องเดิมยังมีผลใช้บังคับอยู่และเป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่าข้อเรียกร้องฉบับหลังโจทก์เลิกจ้างเพราะเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง จำเลยทั้งสองไม่เคยขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่เคยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 12 ศาลแรงงานกลางอนุญาต

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 13 และที่ 14 ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองได้ร่วมประชุมปรึกษาเตรียมการยื่นข้อเรียกร้องในเดือนกันยายน 2524 โดยโจทก์ได้ทราบพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นว่าจำเลยทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการเตรียมการยื่นข้อเรียกร้องครั้งหลังนี้สาเหตุการเลิกจ้างแม้มิได้ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างหรือแจ้งด้วยวาจา เป็นที่เห็นได้ว่ามิได้อาศัยเหตุที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ แต่เป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่มีส่วนร่วมในการประชุมปรึกษาเพื่อเตรียมการยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีรายชื่อและลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองเป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้องหรือเป็นผู้สนับสนุนข้อเรียกร้อง คงเป็นเพียงผู้เข้าร่วมประชุมปรึกษาเตรียมการยื่นข้อเรียกร้องมิใช่ผู้ยื่นข้อเรียกร้องเจรจา แม้จำเลยทั้งสองจะมีรายชื่อในเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 ก่อนมีการยื่นข้อเรียกร้องก็มิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 121(1)แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 และที่ 14ไม่ใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2525

ผู้พิพากษาสมทบทำความเห็นแย้งว่าควรพิพากษายกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และจำเลยที่ 13 ที่ 14 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13ที่ 14 เพราะเหตุที่ลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อโจทก์จำเลยที่ 13 และที่ 14 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเข้าร่วมประชุมปรึกษากับลูกจ้างอื่น และจัดทำข้อเรียกร้องเพื่อยื่นต่อโจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 13 และที่ 14 เป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องด้วย การเลิกจ้างจำเลยที่ 13 และที่ 14 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(1)

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share