คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงิน ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วและจำเลยที่ 2 เป็นผู้อาวัล จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีหน้าที่ดำเนินการกับบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ การที่โจทก์จะได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 3 จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎและระเบียบที่จำเลยที่ 3 กำหนดกล่าวคือ บุคคลที่จะรับการช่วยเหลือจะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ทรงตั๋วเงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนบริษัทที่ถูกระงับกิจการ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บริษัทเงินทุน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ฝากเงินกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนที่ถูกระงับกิจการนั้นโจทก์ไม่มีบัตรเงินฝาก จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จำเลยที่ 3 จะช่วยเหลือ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 105,329,583.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 98,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 98,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 98,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2541 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วเงินทั้งสองฉบับ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลตั๋วเงินทั้งสองฉบับ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้มีนิติสัมพันธ์อย่างใด ๆ กับโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 จัดตั้งขึ้นภายหลังจากโจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ดังนั้นโจทก์จะได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 3 ก็จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎและระเบียบที่จำเลยที่ 3 กำหนด กล่าวคือ บุคคลที่จะรับการช่วยเหลือจะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ทรงตั๋วเงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุน บริษัทที่ถูกระงับกิจการ แต่ตั๋วเงินที่โจทก์เป็นผู้ทรงออกโดยจำเลยที่ 1 หาใช่บริษัทเงินทุนดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์อ้างว่าฝากเงินกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนที่ถูกระงับกิจการ แต่โจทก์ไม่มีบัตรเงินฝาก จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จำเลยที่ 3 จะช่วยเหลือ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share