แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แจ้งความต่อตำรวจว่า ผู้แจ้งเกรงจะขาดอายุความ จึงมาแจ้งไว้ เป็นหลักฐาน จะทวงถามเองก่อน หากไม่ชำระเงินจะมามอบคดีให้ตำรวจดำเนินจนถึงที่สุด ดังนี้ แสดงว่าผู้แจ้งยังไม่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีไม่เป็นร้องทุกข์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า คำแจ้งความของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า”คำร้องทุกข์” ว่า “หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ” แต่ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 มีว่า “ผู้แจ้งเกรงจะขาดอายุความจึงมาขอแจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพื่อจะได้ติดต่อทวงถามด้วยตนเองก่อน หากนายสุมิตรไม่ยอมนำเงินมาชำระให้กับผู้แจ้ง จะได้มามอบคดีให้จัดการดำเนินการจนถึงที่สุด” เห็นได้ว่าคำแจ้งความดังกล่าวโจทก์ยังไม่ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีกับจำเลย เพียงแต่แจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพราะเกรงว่าจะขาดอายุความเท่านั้น จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย และคดีนี้ได้ความว่าโจทก์นำเช็ครายพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาคลองเตย เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2519″ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2520 เป็นเวลาเกินกว่า 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 62/2521 ระหว่างบริษัทอวนินทร์ จำกัดฯ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชษฐ์พาณิชยการฯ กับพวก จำเลย”
พิพากษายืน