คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1599/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน โดยจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้และหนังสือสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ ไว้ การที่ต่อมาโจทก์มากรอกข้อความลงในหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันให้เกินกว่าความเป็นจริงว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป300,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมของจำเลยทั้งสองสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้โจทก์เพียง 30,000 บาทและได้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันโดยยังไม่ได้กรอกข้อความ โจทก์ปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินเป็น 300,000 บาทโดยจำเลยทั้งสองมิได้ยินยอม แม้ตามสัญญาทั้งสองจะระบุจำนวนเงินไว้ 300,000 บาท และสัญญากู้จะระบุว่าได้รับเงินครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 14 กันยายน 2538 มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 345,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 30,000 บาท โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ซึ่งยังมิได้กรอกข้อความโจทก์สมคบกับผู้อื่นนำสัญญาทั้งสองฉบับมากรอกข้อความโดยที่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอม สัญญาทั้งสองฉบับจึงเป็นเอกสารปลอมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์และลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ปัญหาวินิจฉัยประการแรกมีว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมเนื่องจากโจทก์มากรอกข้อความภายหลังผิดไปจากความเป็นจริงตามที่ตกลงทำสัญญากันไว้หรือไม่ เห็นว่า พยานจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานโจทก์มีกรณีอันเป็นที่น่าสงสัยว่าจะมีการกรอกข้อความและจำนวนเงินลงในหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในภายหลังเกินกว่าความเป็นจริง โดยไม่ได้รับความยินยอมของจำเลยทั้งสองสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า การนำสืบพยานบุคคลของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้โจทก์เพียง 30,000 บาท ได้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันโดยยังไม่ได้กรอกข้อความแต่อย่างใด โจทก์ปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินเป็น300,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองมิได้ยินยอม เช่นนี้ แม้ตามสัญญาทั้งสองจะระบุจำนวนเงินไว้ 300,000 บาท และสัญญากู้จะระบุว่าได้รับเงินครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ เพราะเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย
พิพากษายืน

Share