คำสั่งคำร้องที่ 2716/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า คดีนี้จำเลยที่ 7 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยมีใจความว่า โจทก์ได้รับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตดังนั้น แม้การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยจะมิได้จดทะเบียนก็สามารถยกขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง กรณีเช่นนี้ จำเลย ที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 เห็นว่าโจทก์น่าจะได้รับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตทั้งแปลง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 น่าจะมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ด้วย เพราะเป็นเรื่องการให้ชำระหนี้อันไม่อาจ แบ่งแยกจากกันได้ ขอศาลฎีกาได้โปรดมีคำสั่งให้คำพิพากษา ศาลฎีกามีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ด้วย
หมายเหตุ ทนายจำเลยแถลงว่าได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์แล้วโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่นรวมทั้งสิ้น8 สำนวน โดยเรียกจำเลยในสำนวนคดีนี้เป็นจำเลยที่ 7
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งแปดสำนวน พร้อมทั้งให้จำเลยทุกสำนวนขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดที่ 3011 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 400 บาท 800 บาท 500 บาท 1,400 บาท 1,100 บาท7,400 บาท 600 บาท และ 500 บาท ตามลำดับ สำหรับจำเลยที่ 3และที่ 8 ให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายจากจำเลยเพียง 500 บาท เท่านั้นทั้งนี้นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งแปดและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินของโจทก์ดังกล่าว คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7(จำเลยสำนวนคดีนี้) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ยื่นคำร้องดังกล่าว
อนึ่ง เฉพาะจำเลยที่ 6 ไม่ปรากฏใบแต่งทนายในถ้อยคำสำนวนที่ส่งมาศาลฎีกา

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 อ้างเหตุในคำร้องว่าข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาฟังในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดตามฟ้องมาโดยไม่สุจริต คำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 น่าจะมีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และที่ 8 ด้วย เพราะเป็นคำพิพากษาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้นั้นเห็นว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 มีประเด็นพิพาทเฉพาะที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 7 ครอบครองเช่นเดียวกับที่พิพาทในคดีแต่ละสำนวนที่โจทก์ฟ้องจำเลยอื่นอีก 7 สำนวน คำพิพากษาของคดีแต่ละสำนวน จึงมิใช่กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้ร่วมกัน อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 ดังที่อ้างในคำร้องกรณีต้องถือว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่สุดเมื่อมิได้อุทธรณ์ฎีกาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229, 247 จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

Share