แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาแบ่งเช่าที่ดินระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์ผู้เช่าข้อ 8 ระบุว่า “เมื่อครบสัญญาเช่าบรรดาวัสดุและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินตกเป็นของผู้ให้เช่า” มีความหมายอยู่ในตัวว่าตลอดระยะเวลาที่การเช่ายังมีอยู่ กรรมสิทธิ์ในบรรดาวัสดุและสิ่งปลูกสร้างฯ ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แม้จะมีสัญญาข้อ 14 ว่า โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแต่ประการใดก็หามีผลลบล้างข้อตกลงตามสัญญาแบ่งเช่าที่ดินไม่ และสัญญาข้อ 14 นี้ เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะผูกพันถึงจำเลยหรือไม่เพียงใดน่าจะต้องฟังพยานหลักฐานจากคู่ความเสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีตลอดจนบำรุงทางพิเศษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นบ่อลึก โจทก์จะต้องถมดินเทคอนกรีต สร้างกำแพง และอาคาร ฯลฯ เพื่อเป็นลานประกอบกิจการเก็บกองแร่ บดแยกแร่ ต่อมาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนที่ดิน โดยผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และได้มีประกาศที่ดินดังกล่าว เป็นทางเร่งด่วน ให้อำนาจการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจครอบครอง รื้อถอน โดยให้ชดใช้ค่าเสียหาย และประกาศให้พระราชบัญญัติอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดินแดง – ท่าเรือ ที่ดินที่โจทก์เช่าและอสังหาริมทรัยพ์ของโจทก์ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โจทก์ได้ทำการรื้อถอนอสังหาริมทรัพย์และขนบ้านออกไปพ้นเขตเวนคืนแล้ว ได้แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ค่าทดแทนแก่โจทก์ จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา และตอบโจทก์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ โจทก์เห็นว่าจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนและค่าเสียหาย จึงขอให้จำเลยใช้ค่าทดแทนและค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๑,๓๒๒, ๑๒๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่โจทก์เช่าถูกเขตที่จะเวนคืนทางด่วน การท่าเรือฯ อ้างว่าบรรดาวัสดุและสิ่งปลูกสร้างได้ตกเป็นของการท่าเรือฯ จึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ โจทก์ชอบที่จะว่ากล่าวกับการท่าเรือฯ รัฐบาลมีนโยบายสร้างทางพิเศษขึ้น จึงได้จัดตั้งจำเลยขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย และมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินของการท่าเรือฯ บางส่วนการท่าเรือฯ ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ตามสัญญาข้อ ๑๔ แล้ว การท่าเรือฯ หรือจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ อย่างไรก็ตามจำเลยได้ประเมินราคาค่าทดแทนไว้แล้ว คิดเป็นเงิน ๑,๙๒๕,๙๑๓.๔๔ บาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินความเป็นจริง จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นสอบความบางประการแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาสารสำคัญว่าขอให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๕ ที่โจทก์ทำไว้กับการท่าเรือฯ ข้อ ๑๒ ระบุว่า “บรรดาวัสดุและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินที่ผู้เช่าได้ติดตั้งและทำไปในการปรับปรุงบริเวณที่เช่าตามหนังสือของบริษัทโจทก์ที่ ๑๑๓/๒๕๑๔ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๔ ผู้เช่าตกลงยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า” ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทน และบริษัทโจทก์มุ่งหวังที่จะได้ใช้สิทธิจากการเช่าบริเวณที่เช่าตามสัญญาดังกล่าวตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ คือ ๑๐ ปี โดยเฉพาะการท่าเรือฯ ได้จดทะเบียนการเช่าให้แก่บริษัทโจทก์ตามสัญญาแบ่งเช่าทีดินฉบับลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ ซึ่งในสัญญาข้อ ๔ ระบุว่า เมื่อครบสัญญาเช่าบรรดาวัสดุและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินตกเป็นของผู้ให้เช่า จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าตลอดระยะเวลาที่การเช่ายังคงมีอยู่ กรรมสิทธิ์ในบรรดาวัสดุและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า (บริษัทโจทก์) แม้โจทก์จะมีข้อตกลงตามสัญญาเช่าข้อ ๑๔ ก็ตาม ก็หามีผลลบล้างข้อตกลงตามสัญญาแบ่งเช่าที่ดิน ซึ่งได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๔ ไม่ โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ ส่วนข้อความตามสัญญาเช่าข้อ ๑๔ ที่ว่า โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกร้อง ฯลฯ ค่าเสียหายแต่ประการใด นั้นก็เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับการท่าเรือฯ ซึ่งจะผูกพันถึงจำเลยหรือไม่เพียงใดน่าจะต้องฟังพยานหลักฐานจากคู่ความเสียก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าสิ่งปลูกสร้างในทีดินที่เวนคืนตกเป็นของรัฐและจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นจึงยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ – จำเลยใหม่แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่