แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ตื้นเขินชายคลองเป็นที่ชายตลิ่งของคลอง น้ำท่วมถึงราว3 เดือนทุกปี ไม่ใช่ที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของโจทก์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม มาตรา1304 วรรค 2 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อเรือนในที่ชายคลองหน้าที่ดินของโจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อเรือนจากที่พิพาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1เป็นบิดาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยซึ่งเกิดจากนางผันภริยาคนที่ 3 ของโจทก์ที่ 1จำเลยเป็นพี่ชายของโจทก์ที่ 2 ที่พิพาทคือที่ดินภายในเส้นสีเขียวอันมีจำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 21 วา จำเลยเป็นผู้ครอบครองอยู่ โจทก์อ้างว่าที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งหน้าที่ดินมีโฉนดของโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 1 จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ มิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด ทั้งต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ดังฟ้อง
ในเบื้องแรก จะได้วินิจฉัยเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่เสียก่อน ในข้อนี้จำเลยอ้างนายแผ้ว ใจมั่นคง รับราชการเป็นช่างตรีสำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นช่างผู้ออกไปทำการรังวัดที่พิพาทเพื่อทำแผนที่วิวาทตามคำสั่งศาลเป็นพยาน โดยนายแผ้วเบิกความว่า ที่พิพาทตามหลักฐานที่ประกฏในแผนที่ระวางเป็นที่สาธารณประโยชน์ คลองบางลำเจียกกว้างประมาณ 2 เส้นเศษ ปัจจุบันกว้างเพียง 10 วา เนื่องจากตื้นเขิน ส่วนที่ตื้นเขินก็ต้องเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่เป็นที่ดินงอกริมตลิ่ง ผู้ใหญ่บ้านที่ไประวังแนวเขตก็ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่พิพาทอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดของนายกิ๊ด โจทก์ที่ 1 นางทองหล่อ ที่มีโฉนดเป็นที่นามีหลักเขตปรากฏชัด จากแนวเขตที่ดินมีโฉนดลงไปหาลำคลองบางลำเจียกยาวประมาณ 2 เส้นเศษนายพวง บุญธรรมเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลบางกระเจ็ด ซึ่งที่พิพาทอยู่ในเขตปกครองและทั้งโจทก์จำเลยต่างก็เป็นลูกบ้าน เบิกความว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ นายสิน จันเจริญ กำนันท้องที่ที่พิพาทตั้งอยู่ก็มาเบิกความว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ พยานเหล่านี้แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายอ้างมา แต่ก็นับได้ว่าเป็นพยานคนกลางเพราะเป็นเจ้าพนักงานทั้งสามคน ต่างก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์จำเลยอันจะทำให้เห็นว่าเบิกความเข้าข้างฝ่ายใด โดยเฉพาะตามคำเบิกความของนายแผ้วช่างรังวัดได้ความว่าตามหลักฐานในแผนที่ระวางคลองบางลำเจียกนั้นเป็นที่สาธารณประโยชน์กว้างประมาณ 2 เส้นเศษ บัดนี้คลองนั้นตื้นเขินขึ้น เหลือกว้างเพียง 10 วา และได้ความจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายอีกว่าหน้าน้ำน้ำยังท่วมถึงที่พิพาทอยู่ราวสามเดือน นายสินกำนันเบิกความต่อไปว่า คลองบางลำเจียกนั้น ทางอำเภอสั่งไว้ตั้งแต่ปี 2503 ว่าต่อไปจะทำเป็นคลองชลประทาน ไม่ให้ใครจับจองที่เหนือคลอง (ที่พิพาทอยู่ทางทิศเหนือของคลอง) นายพวงผู้ใหญ่บ้านเบิกความอีกว่า ในฤดูแล้งเห็นชาวบ้านปล่อยโคกระบือกินหญ้าในที่พิพาท สรุปแล้วคดีฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งของคลองบางลำเจียก ซึ่งน้ำยังท่วมถึงอยู่ราว 3 เดือน เป็นประจำทุก ๆ ปี และเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงยังเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งหน้าที่ดินโฉนดของโจทก์ดังโจทก์อ้างไม่”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง