คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1598-1599/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดภายใน 1 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งรับฟ้องในวันนั้น เพราะโจทก์ที่ 2 ร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องในภายหลังซึ่งเป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าคดีโจทก์ที่ 2 ได้ฟ้องในวันยื่นฟ้องแล้ว ส่วนการไต่สวนเพื่อประกอบการสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้หรือไม่ เป็นกระบวนพิจารณาของศาล แม้จะเนิ่นนานไปก็หาใช่ความผิดของโจทก์ที่ 2 ไม่ คดีโจทก์ที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ศาลทหารพิพากษาคดีส่วนอาญา ถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ฐานขับรถประมาททำให้โจทก์ทั้งสองบาดเจ็บสาหัสไปแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 เป็นคดีแพ่ง ให้ร่วมกันรับผิดฐานละเมิด เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยตามข้อต่อสู้และฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่รถชนกันเกิดจากโจทก์ที่ 1ขับรถแล่นเข้าไปชนรถซึ่งจำเลยที่ 1 ขับ หาใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวน(โจทก์ในสำนวนแรกศาลเรียกว่าโจทก์ที่ ๑ โจทก์ในสำนวนที่ ๒ ศาลเรียกว่าโจทก์ที่ ๒) ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๕ จำเลยที่ ๑ในฐานะลูกจ้างกระทำตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์โดยประมาทรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ ๑ ขับสวนทางมาโดยมีโจทก์ที่ ๒ ซ้อนท้าย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ ๑ ถูกศาลลงโทษฐานขับรถประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสไปแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ ๑ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ มิใช่ลูกจ้าง และมูลเหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจกท์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกาทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาสำนวนโจทก์ที่ ๑ เฉพาะข้อกฎหมาย ส่วนสำนวนโจทก์ที่ ๒ รับฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ ๒ ในสำนวนโจทก์ที่ ๑ ว่าฟังไม่ขั้น ส่วนฎีกาจำเลยที่ ๒ ในสำนวนโจทก์ที่ ๒ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ที่ ๒ ยื่นฟ้องวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๖ แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งรับฟ้องในวันนั้น เพราะโจทก์ที่ ๒ ร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยศาลชั้นต้นรับฟ้องในภายหลัง ซึ่งเป็นเวลาเกิน ๑ ปีนับแต่วันเกิดเหตุก็ตาม ย่อมถือได้ว่าคดีโจทก์ที่ ๒ ได้ฟ้องในวันยื่นฟ้องแล้ว ส่วนการไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการสั่งอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้หรือไม่ เป็นกระบวนพิจารณาของศาล แม้จะเนิ่นนานไปก็หาใช่ความผิดของโจทก์ที่ ๒ ไม่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุเกิดเพราะโจทก์ที่ ๑ ได้ขับรถแล่นตัดหน้าเข้าไปชนรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ขับ หาใช่ความประมาทของจำเลยที่ ๑ ไม่ และวินิจฉัยว่า ฉะนั้น แม้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างจะมิได้ฎีกาก็ตาม (และได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลพิพากษาลงโทษในคดีส่วนอาญาว่าขับรถโดยประมาททำให้โจทก์ทั้งสองบาดเจ็บสาหัส) แต่คดีนี้โจทก์ที่ ๒ ฟ้องจำเลยที่ ๒ ว่าเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยตลอดถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕(๑) และมาตรา ๒๔๗
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒

Share