คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CELIA” สำหรับสินค้าจำพวก 11 อันได้แก่ผ้าอนามัย แต่โจทก์ก็มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CEL”เป็นเครื่องหมายชุดของโจทก์และคำว่า “CEL” เป็นคำทั่วไปอันมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ และอาจผสมกับคำอื่นๆ ได้ ประกอบกับโจทก์เพิ่งมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องการค้าคำว่า”CELIA”เมื่อพ.ศ.2516 อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนถึง 1 ปี และในระหว่างนั้นเป็นเวลาที่จำเลยได้ลงทุนทั้งในการผลิต การโฆษณา และจำหน่ายสินค้าที่จำเลยจดทะเบียนว่า “CELIA” จนเป็นที่แพร่หลายแก่ประชาชนทั่วประเทศแล้ว ส่วนสินค้าของโจทก์ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าว่า “CELIA” ยังมิได้ผลิตออกจำหน่ายเลย ดังนี้โจทก์จะมาอ้างสิทธิดังกล่าวเพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CELIA” โดยมิให้สิทธิจำเลยจดทะเบียนนั้นหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์ประกอบอุตสาหกรรมผลิตจำหน่ายและสั่งเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งสินค้าจำพวกกระดาษชำระ ผ้าอนามัยและอื่น ๆ โดยใช้เครื่องหมายการค้าขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ‘ C E L ‘ (ซี.อี.แอล) เช่น ‘CELIA’ ‘CELLOX’ และ ‘CELLIA’ เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นมาจนประชาชนนิยามใช้ประมาณ 10 ปี ต่างรู้จักและเข้าใจดีว่าเครื่องหมายการค้าที่มีตัวอักษรนำว่า ‘CEL’ เป็นของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะผ้าอนามัย ‘CELLIA’ โจทก์ได้จำหน่ายตั้งแต่ปี 2511 และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2516 และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนคำว่า ‘CELIA’ ไว้ในปีเดียวกัน ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELIA’ ตามที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้า ‘CELIA’ ที่จำเลยขอจดทะเบียนไว้ จึงไม่อาจจดทะเบียนให้โจทก์ได้ ให้โจทก์ทำความตกลงกับจำเลยหรือนำคดีมาสู่ศาลภายในสามเดือน มิฉะนั้นจะจดทะเบียนให้จำเลยซึ่งขอจดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะประชาชนทราบดีว่า เครื่องหมายการค้าที่มีอักษร ่C E L่เป็นของโจทก์ ขอศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนคำว่า ‘CELIA’ ดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนคำว่า ‘CELIA’ ต่อไป

จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า คำว่า ‘CEL’ คำเดียว มิใช่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ผู้เดียว จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า’CELIA’ สำหรับผ้าอนามัยของจำเลยโดยสุจริต เปิดเผย จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นเวลานานแล้ว และโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไว้แล้วด้วย เครื่องหมายการค้า ‘CELIA’ ของโจทก์ โจทก์ขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้า คือกระดาษชำระประเภทต่าง ๆ และกระดาษปูโต๊ะ ซึ่งต่างชนิดกับของจำเลย นอกจากนั้นเครื่องหมายการค้า ‘CELLOX’ และ ‘CELLA’ ของโจทก์ก็แตกต่างกับของจำเลยทั้งตัวสะกดและการอ่าน ทั้ง ‘CELLOX’ ของโจทก์มีรูปผู้หญิง ส่วน ‘CELIA’ ของจำเลยมีรูปผีเสื้อ จึงแตกต่างกัน ไม่มีทางที่ประชาชนจะหลงผิด ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยดำเนินการจดทะเบียนการค้าคำว่า ‘CELIA’ ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLOX’ และโจทก์เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ มาก่อน โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองหรือจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดก็น่าจะทำได้ ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนคำว่า ‘CELIA’ ดีกว่าจำเลย ห้ามมิให้ จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ‘CELIA’ ต่อไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่เคยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า’CELIA’ มาจำหน่าย และไม่เคยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้เป็นชุดกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ก่อน แต่เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภายหลังจำเลยทั้งจำเลยยังได้ใช้จ่ายในการโฆษณาเป็นจำนวนมาก ย่อมแพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELIA’ ก่อนโจทก์ จึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELIA’ ดีกว่าโจทก์จึงพิพากษากลับคำพิพากษา ศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า’CELLOX’ และ ‘CELLA’ ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า ‘CELL’ ก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CEL’ เป็นเครื่องหมายชุดของโจทก์ประกอบกับคำว่า ‘CEL’ เป็นคำทั่วไป อันมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ และอาจผสมกับคำอื่น ๆ ได้ ทั้งพยานโจทก์เองก็เบิกความว่า คำว่า ‘CEL’ ไม่มีความหมายเกี่ยวกับบริษัทโจทก์ เหตุที่ใช้คำนี้ก็เพราะประชาชนนิยมและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว ดังนั้น โจทก์จะกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า คำว่า ‘CEL’ เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันเป็นการตัดสิทธิของผู้อื่นที่จะนำคำว่า ‘CEL’ ไปเป็นเครื่องหมายการค้าหาได้ไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ ซึ่งคล้ายคำว่า ‘CELIA’ โจทก์อ้างว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2511 โจทก์จึงควรจะได้สิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ รวมไปถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELIA’ ด้วย เห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ ซึ่งเป็นสินค้าผ้าอนามัยชนิดสอด อันเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และโจทก์ได้สั่งเข้ามาจำหน่ายที่ตัวกล่องตามเอกสารหมาย จ.14 นั้นไม่ปรากฏว่ามีชื่อบริษัทโจทก์ หรือโจทก์ได้รับโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด อนึ่ง โจทก์เองก็ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวเข้ามาในปี 2511 เพียงครั้งเดียว เพราะจำหน่ายไม่ดีจึงไม่แพร่หลายแก่ประชาชน และประชาชนทั่วไปย่อมไม่ทราบว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จึงยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งโจทก์จะอ้างสิทธิขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า’CELIA’ เพื่อเป็นการตัดสิทธิจำเลยนั้นหาได้ไม่ อีกประการหนึ่ง ถ้าหากโจทก์มีเจตนาสุจริต โจทก์อาจจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ และ ‘CELIA’ ตั้งแต่ปี 2511 หรือขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดในตอนนั้นแล้วแต่โจทก์เพิ่งมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2516อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยได้ขอยื่นจดทะเบียนถึง 1 ปี ในระหว่างเวลานั้นเป็นเวลาที่จำเลยได้ลงทุนทั้งในการผลิต การโฆษณา และจำหน่าย จนเป็นที่แพร่หลายแก่ประชาชนทั่วประเทศแล้ว ทั้ง ๆ ที่สินค้าของโจทก์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELLIA’ เลิกจำหน่ายและสินค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้าว่า ‘CELIA’ ยังมิได้ผลิตออกจำหน่ายเลยย่อมเป็นการเอาเปรียบจำเลย การที่โจทก์จะอ้างสิทธิดังกล่าวเพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘CELIA’ โดยมิให้สิทธิจำเลยจดทะเบียนนั้นหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share