คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 484,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 428,244 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 359,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงิน 69,144 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วก 7578 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทอิคาซาวะพรีซิสชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัย นายคมสันต์ ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนติวานนท์มุ่งหน้าไปอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีนางสาวอรุณวรรณ และนายสายชล โดยสารไปด้วย เมื่อไปถึงสามแยกสามัคคีที่เกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน จธ 9081 (เดิม หมายเลขทะเบียน 1 ธ 9081) กรุงเทพมหานคร ออกจากสถานีบริการน้ำมันโดยประมาทเลินเล่อตัดหน้ารถที่โจทก์รับประกันภัยรถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้นายคมสันต์กับนางสาวอรุณวรรณได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย พันตำรวจโทโสภณ พนักงานสอบสวน ตรวจสถานที่เกิดเหตุ แล้วลงบันทึกไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีในวันเกิดเหตุนั้นเอง ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นเงิน 630,000 บาท ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์นำซากรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยออกขายได้เงิน 270,900 บาท โจทก์โอนทะเบียนรถแก่ผู้ซื้อไปแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 359,100 บาท และโจทก์ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่นายคมสันต์กับนางสาวอรุณวรรณรวมเป็นเงิน 69,144 บาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 ตามใบสรุปยอดสินไหม
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดประมาทเพิ่งมาทราบในวันที่พันตำรวจโทโสภณ พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และโจทก์ฟ้องในฐานะรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 มิได้ใช้อายุความที่ผู้เอาประกันภัยฟ้องผู้ทำละเมิดตามมาตรา 448 เห็นว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องคดีนี้มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัยจึงต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หาใช่อายุความเริ่มนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อคดีได้ความตามคำเบิกความของนายคมสันต์ ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยว่าเมื่อเกิดเหตุนายคมสันต์หมดสติและตามคำเบิกความของพันตำรวจโทโสภณพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ได้ความว่าพยานได้รับแจ้งเหตุออกไปที่เกิดเหตุทันที พบจำเลยที่ 1 และพยานขอใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ถ่ายเอกสารไว้กับทำรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ซึ่งรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวแม้ระบุชื่อและที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และนายคมสันต์ ผู้ขับรถยนต์ทั้งสองคันที่ชนกันไว้แต่ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุนั้นนายคมสันต์ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นผู้ใด จึงถือว่าในวันเกิดเหตุวันที่ 13 ธันวาคม 2545 นายคมสันต์ยังไม่รู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน 2546 คดีได้ความว่าพันตำรวจโทโสภณนัดนายคมสันต์และจำเลยที่ 1 มาตกลงกันแต่จำเลยที่ 1 ไม่มาพบตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เมื่อนายคมสันต์ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันดังกล่าวและนายวณัฐชา พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า พยานพบนายคมสันต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2546 นายคมสันต์ให้การว่ามิได้ประมาทเลินเล่อ เช่นนี้นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 นายคมสันต์ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงมิได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี และพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share