แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง คำฟ้องของโจทก์ในตอนแรกที่บรรยายว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายซึ่งประสงค์จะไปทำงานให้แก่นายจ้างที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจำเลยกับพวกเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากผู้เสียหายโดยจำเลยกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายส่วนคำฟ้องตอนหลังที่บรรยายว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานและไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานตามที่ได้หลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงให้จำเลยกับพวกจัดหางานให้และเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกได้ไปซื้อทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดคราวเดียวกัน2ฐานปล่อยให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดจากผลการพิจารณาข้อเท็จจริงเอาเองทั้งจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดีฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม แม้คำฟ้องตอนแรกบรรยายว่าจำเลยจัดหางานโดยเรียกรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายแต่คำฟ้องตอนหลังที่ว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ตามที่ได้หลอกลวงแต่อย่างใดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานการกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ.2528มาตรา30,82
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 91, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 170,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคแรก, 82ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยและโจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 อีกกระทงหนึ่งให้จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลย 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 170,000 บาทแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยยกขึ้นอ้างได้แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 195 วรรคสอง และเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ในตอนแรกที่บรรยายว่า ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม ถึงวันที่23 มิถุนายน 2534 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายซึ่งประสงค์จะไปทำงานให้แก่นายจ้างที่ประเทศญี่ปุ่นโดยจำเลยกับพวกเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนการจัดหางานจากผู้เสียหายซึ่งเป็นคนหางานโดยจำเลยกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายส่วนคำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่บรรยายว่า ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม2534 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2534 เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกโดยทุจริต ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายและไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ตามที่จำเลยกับพวกได้หลอกลวงแต่อย่างใด โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวงนั้น จึงตกลงให้จำเลยกับพวกจัดหางานให้ผู้เสียหายและโดยการหลอกลวงนั้นเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องยืนยันว่า จำเลยกระทำผิดคราวเดียวกัน 2 ฐานปล่อยให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดจากผลของการพิจารณาข้อเท็จจริงเอาเองทั้งจำเลยให้การปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมและเห็นว่าคำฟ้องตอนแรกบรรยายว่า จำเลยจัดหางานโดยเรียกรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายแต่คำฟ้องตอนหลังของโจทก์ที่ว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ตามที่ได้หลอกลวงแต่อย่างใด เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางาน การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายหรือได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่ผู้เสียหายต้องเสียไป จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์