คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามร่วมกันไปกระทำผิดโดยจำเลยที่ 2 เข้าทำร้าย บ.ซึ่งอยู่ที่บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย แล้วร่วมกันฆ่า ส.กับ ธ. และทำร้าย ป. ได้รับอันตรายแก่กาย แล้วได้รื้อค้นหาทรัพย์ที่โต๊ะของผู้เสียหาย ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยทั้งสามประสงค์ต่อทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้เนื่องจาก ป. ได้หลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุและร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านทันท่วงที ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายด้วยกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ก็ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีและใช้มีดและปืนเป็นอาวุธเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นอีกบทหนึ่งด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า,80 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6),83อีกบทหนึ่งด้วย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามมาตรา 289 อันเป็นบทหนักซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยให้จำคุกตลอดชีวิต โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นแต่อย่างใด และเมื่อศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังนี้ ศาลฎีกาย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักไปกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5),(6), 340, 340 ตรี, 371, 91, 80 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบมีดพกปลายแหลมของกลาง จำเลยที่ 1ที่ 2 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคห้า, 80 แม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีด ส่วนจำเลยที่ 3 ใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดก็ไม่อาจเพิ่มโทษตามมาตรา 340 ตรี ได้อีก เพราะต้องห้ามตามมาตรา 51 และมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289อีกบทหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้มาตรา 289ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยให้ประหารชีวิตส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคห้า, 80และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 298 อีกบทหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้มาตรา 340 วรรคห้า, 80 ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษจำเลยที่ 2 โดยให้จำคุกตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และจำเลยที่ 3 ยังมีความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371อีกกระทงหนึ่งด้วยแต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ใช้มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษ โดยให้จำคุก1 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 ที่ 3ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งเฉพาะในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคงให้จำคุก 6 เดือน สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3หนึ่งในสาม คงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในความผิดฐานนี้ให้จำคุกตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลให้จำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นอัตราโทษจำคุกสูงสุดแล้วไม่อาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 3 ได้อีกจึงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตตามความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่นเพียงสถานเดียว ให้ริบอาวุธมีดพกปลายแหลม ส่วนของกลางอื่นให้คืนเจ้าของ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสุดท้ายประกอบด้วยมาตรา 80และมาตรา 340 ตรี, 289(6) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันไปกระทำผิดโดยจำเลยที่ 2 เข้าทำร้ายนางสาวบังอรซึ่งอยู่ที่บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วร่วมกันฆ่าเด็กชายสุวิทย์กับนายธีระ และทำร้ายนางสาวปิยวันได้รับอันตรายแก่กาย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากจำเลยทั้งสามประสงค์ต่อทรัพย์ เพราะได้มีการรื้อค้นหาทรัพย์ที่โต๊ะของผู้เสียหาย แต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้เนื่องจากนางสาวปิยวันได้หลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุและร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านทันท่วงที กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายด้วยกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กรณีก็ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉะนั้น จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีและใช้มีดและปืนเป็นอาวุธเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นอีกบทหนึ่งด้วยฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสุดท้าย ประกอบด้วยมาตรา 80และมาตรา 340 ตรีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3ฟังไม่ขึ้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นทุกข้อ แต่ถึงอย่างไรก็ดีแม้จำเลยที่ 2จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6), 83 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว แต่เนื่องจากคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยให้จำคุกตลอดชีวิต โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นแต่อย่างใดและเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2โจทก์ก็ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังนั้นศาลฎีกาย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักไปกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย, มาตรา 340 ตรีประกอบด้วยมาตรา 80 ผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298, 83 และผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6), 83 อีกบทหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6), 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 สำหรับโทษที่ลงแก่จำเลยที่ 2 นั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share