คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7520/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย 1 นัด จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัดเอาให้ตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินไปที่รถจักรยานยนต์เปิดท้ายรถหากระสุนปืนแต่ไม่มีกระสุนปืน การที่จำเลยที่ 2 พูดยุยงให้จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายซ้ำหลังจากจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายไปแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 1 ได้ลงมือกระทำความผิดไปแล้ว คำยุยงของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงสนับสนุนเร้าใจให้จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายซ้ำให้ถึงแก่ความตายหนักแน่นขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาฆ่าผู้อื่น แต่ปฏิเสธว่ามิได้กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและกระทำไปโดยบันดาลโทสะ ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานฆ่าผู้อื่นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่น 25 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 12 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ไม่ได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้อง อันหมายความว่าจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายซึ่งเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นทันทีทันใด คดีนี้โจทก์ไม่ได้ตัวนางสาวสุนีย์และนางสาวพัฒชรดามาเบิกความ แต่ในชั้นสอบสวนนางสาวสุนีย์ให้การวันที่ 11 พฤษภาคม 2546 ตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 1 เดินมาหน้าร้านพูดขู่ผู้ตายและทำท่าจับเอว ผู้ตายวิ่งเข้าไปในร้าน พวกจำเลยที่ 1 สองคนเดินมาที่ประตูพูดจาโวยวายเพื่อให้ผู้ตายออกมา จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย ให้การเพิ่มเติมวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เมื่อดูภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ยิงแล้ว จำเลยที่ 2 พูดว่ายิงมันให้ตาย จำเลยที่ 1 จึงเดินไปที่รถจักรยานยนต์เปิดท้ายรถหากระสุนปืนแต่ไม่มีกระสุนปืน ให้การเพิ่มเติมวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 เมื่อดูภาพถ่ายจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ท้าทายให้ผู้ตายออกมาจากร้านและให้การเพิ่มเติมวันที่ 17 มิถุนายน 2546 เมื่อดูตัวจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัด ยิงมันให้ตาย นางสาวพัฒชรดาให้การวันที่ 11 พฤษภาคม 2546 ตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 1 มีอาการเมาสุราพูดกับผู้ตายและใช้มือจับเอวเหมือนกับจะดึงวัตถุหรือสิ่งของที่เป็นอาวุธออกมา ผู้ตายวิ่งหลบหนีเข้าไปในร้าน พวกจำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้ตายออกมา จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย พวกจำเลยที่ 1 พูดว่า ยิงมันอีกนัด ยิงมันให้ตาย ให้การเพิ่มเติมวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เมื่อดูภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลที่ยั่วยุและเรียกให้ผู้ตายออกมา ให้การเพิ่มเติมวันที่ 1 มิถุนายน 2546 เมื่อดูภาพถ่ายจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ใช้ให้พยานเรียกผู้ตายออกมาพบจำเลยที่ 1 บอกว่าจะคุยด้วย และให้การเพิ่มเติมวันที่ 24 มิถุนายน 2546 เมื่อดูตัวจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัด ยิงมันให้ตาย นางสาวศุภลักษณ์พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 เมื่อดูภาพถ่ายจำเลยทั้งสามตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 1 พูดกับผู้ตายและใช้มือจับเอว ผู้ตายตกใจวิ่งหนีเข้าไปในร้าน จำเลยที่ 3 พูดจายั่วยุชักชวนผู้ตายแต่ผู้ตายไม่ออกมา จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงเข้าไปในร้าน 1 นัด จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัดเอาให้ตาย ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวก 1 คน ไปร้านน้ำชาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนและตั้งใจจะไปยิงผู้ตายจำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ จำเลยทั้งสามชักชวนกันไปดื่มน้ำชาที่ร้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และผู้ตายพูดจากันไม่ทราบว่าเป็นเรื่องใด จำเลยที่ 3 เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย ผู้ตายวิ่งเข้าไปในร้าน จำเลยที่ 3 ห้ามจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถห้ามได้ จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ดังนี้ ที่นางสาวศุภลักษณ์เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย 1 นัด พวกจำเลยที่ 1 ตะโกนบอกให้ยิงอีก 1 นัด แต่ในชั้นสอบสวนนางสาวศุภลักษณ์ให้การว่า จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัดเอาให้ตาย โดยนายสาวศุภลักษณ์มาเบิกความวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 หลังเกิดเหตุนาน 2 ปี 5 เดือนเศษ เมื่อพิจารณาคำให้การนางสาวสุนีย์และนางสาวพัฒชรดาซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมกันแล้ว นางสาวสุนีย์และนางสาวพัฒชรดาให้การทำนองเดียวกับนางสาวศุภลักษณ์ว่า จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัดเอาให้ตาย ดังนั้น ฟังได้ว่านางสาวศุภลักษณ์พยานโจทก์เบิกความกลับคำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 คำให้การนางสาวศุภลักษณ์ในชั้นสอบสวนเป็นความจริงยิ่งกว่าที่เบิกความต่อศาล ข้อเท็จจริงฟังได้มั่นคงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย 1 นัด จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงมันอีกนัดเอาให้ตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินไปที่รถจักรยานยนต์เปิดท้ายรถหากระสุนปืนแต่ไม่มีกระสุนปืน การที่จำเลยที่ 2 พูดยุยงให้จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายซ้ำหลังจากจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายไปแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 1 ได้ลงมือกระทำความผิดไปแล้ว คำยุยงของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงสนับสนุนเร้าใจให้จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายซ้ำให้ถึงแก่ความตายหนักแน่นยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นตัวการ ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นผู้สนับสนุน แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง รับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน แต่หลังจากจำเลยที่ 2 พูดยุยงแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยิงซ้ำจะด้วยเหตุใดก็ตาม เห็นควรกำหนดโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าโทษจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของแต่ละบุคคล
สำหรับจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เดินมาที่ประตูพูดจาโวยวายท้าทายเรียกให้ผู้ตายออกมา ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตายซึ่งเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นทันทีทันใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share