แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านในฐานะส่วนตัวที่เป็นภริยามิได้จดทะเบียนสมรสของผู้ตาย และในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรของผู้ตายหากกรณีฟังได้ตามคำร้องคัดค้าน ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย.
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นมารดา ผู้ร้องที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุวิทย์ มหาแถลง นายสุวิทย์มหาแถลง ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมหรือแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ร้องที่ 2 และนายประกิจมหาแถลง ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 2 และนายประกิจ มหาแถลง เป็นผู้จัดการมรดกาของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก เป็นภริยาของผู้ตายตั้งแต่ พ.ศ. 2520 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงนฤพรมหาแถลง และเด็กหญิงสุภัชชา มหาแถลง ปรากฏตามทะเบียนการรับรองบุตรและบันทึกของนายทะเบียน บุตรทั้งสองของผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตาย มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาผู้คัดค้านและผู้ตายได้ร่วมกันประกอบกิจการและทำมาหาได้ร่วมกัน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผู้ตายจึงเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ตาย ผู้ร้องทั้งสองมิได้ส่วนในการทำมาหาได้ ซึ่งนอกจากเงินฝากและหุ้นให้ธนาคารตามที่ผู้ร้องทั้งสองแจ้งมาแล้ว ยังมีทรัพย์มรดกอีกจำนวนมากเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอมให้ผู้คัดค้านเข้าไปในสถานที่ทำงานของผู้ตาย และเมื่อเปิดตู้นิรภัยก็ไม่แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ ทั้งยังขัดขวางและห้ามปรามมิให้ผู้คัดค้านเข้าตรวจสอบด้วย อันเป็นการส่อไปในทางไม่สุจริต นอกจากนี้คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่ระบุบุตรของผู้คัดค้านว่าเป็นทายาทพฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวหากจะให้ผู้ร้องทั้งสองหรือนายประกิจมหาแถลง ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เห็นได้ว่าจะได้รับความเสียหายแก่กองมรดก แก่ผู้คัดค้าน และแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้คัดค้านจึงขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือหากศาลเห็นว่าผู้ร้องหรือนายประกิจ มหาแถลง จะเป็นผู้สมควรก็ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย
ศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวนพยานผุ้ร้องเพียงฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานผู้คัดค้าน มีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 2 และนายประกิจ มหาแถลง เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ มหาแถลงผู้ตาย ให้ยกคำร้องคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยาน โดยขอให้สืบพยานผู้คัดค้านแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นงดสืบพยานผู้คัดค้านชอบหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก เป็นภริยาของนายสุวิทย์ มหาแถลงผู้ตายตั้งแต่ พ.ศ. 2520 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน2 คน คือ เด็กหญิงนฤพร มหาแถลง และเด็กหญิงสุภัชชา มหาแถลงปรากฏตามทะเบียนการรับรองบุตร และบันทึกของนายทะเบียนเอกสารท้ายคำร้องคัดค้านหมายเลข 1,2 บุตรทั้งสองของผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตาย มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ผู้คัดค้านและผู้ตายได้ร่วมกันประกอบกิจการและทำมาหาได้ร่วมกันจนทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้น และได้ขยายธุรกิจออกไปมากขึ้นทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผู้ตายจึงเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ตาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องและนายประกิจ มหาแถลง ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงนฤพร มหาแถลง เด็กหญิงสุภัชชา มหาแถลง บุตรผู้ตายหากกรณีฟังได้ตามคำร้องคัดค้าน ย่อมถือได้ว่า ผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกรายนี้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของผู้คัดค้านเสียนั้น ย่อมเป็นการตัดโอกาสผู้คัดค้านที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนความเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าควรให้โอกาสผู้คัดค้านดำเนินการสืบพยานจนเสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อน…”
พิพากษายืน.