แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ทรัพย์สินพิพาทได้มาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกันโดยไม่อาจแยกได้ว่าฝ่ายใดประกอบอาชีพมีรายได้มากน้อยแตกต่างกันอย่างไรการที่จำเลยที่ 1 มีรายได้มากก็เนื่องจากโจทก์ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลโจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมทรัพย์สินพิพาทด้วย และสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1357
ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่ทำตามแบบ จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 และศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ให้การต่อสู้ไว้ก็ยกขึ้นฎีกาได้
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาท (น.ส.3 ก.) จากจำเลยที่ 3แล้วได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยตลอดมา แสดงว่าจำเลยที่ 3 โอนการครอบครอง และโจทก์กับจำเลยที่ 1 เข้ายึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนจึงได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อโอนการครอบครองแล้วก็สิ้นสิทธิครอบครอง การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิใด ๆ แต่กลับเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินและทรัพย์สินให้โจทก์กึ่งหนึ่งและให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ก. ระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยโจทก์มิได้มีคำขอนั้นเป็นการรับรองสิทธิของโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทเสียก่อนที่จะนำไปสู่การบังคับให้จำเลยที่ 1 แบ่งให้โจทก์จึงไม่เป็นการเกินคำขอ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของหนังสือ น.ส.3 ก.ที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการทางทะเบียนให้จึงบังคับให้ตามคำขอในส่วนนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนและแก้ไขคำฟ้องเฉพาะสำนวนหลังว่าเดิมโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน อยู่กินร่วมกันมากว่า 30 ปีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสระหว่างอยู่กินร่วมกันโจทก์และจำเลยที่ 1มีทรัพย์สินร่วมกันคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059 ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 1 งาน 70 ตารางวา พร้อมบ้าน 1 หลัง เลขที่ 135ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากจำเลยที่ 3 รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนบ – 5111 พิษณุโลก ราคา 200,000 บาท เงินสด 900,000 บาทต่อมาปี 2539 จำเลยที่ 1 มีภริยาใหม่คือจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ไล่โจทก์ออกจากบ้าน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 2 สมรู้ร่วมคิดกันจดทะเบียนโอนที่ดินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันหาซื้อมาให้แก่จำเลยที่ 2ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งเงินและทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันตามฟ้องให้โจทก์กึ่งหนึ่งหากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059 ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 1 งาน 70 ตารางวาระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินกึ่งหนึ่งหรือใช้ราคาให้โจทก์กึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 42,500 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ยกเว้นเฉพาะที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เดิมเป็นของจำเลยที่ 3 ปัจจุบันจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้วโดยสุจริต ไม่เคยขายให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059 ตำบลมะต้องอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 2ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บ – 5111 พิษณุโลก และเงินสด840,000 บาท ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทรัพย์สินดังกล่าวแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059ตำบลมะต้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 2 และที่ 3จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า บ้าน รถยนต์และเงินฝากในธนาคารเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เดียว โจทก์ไม่มีส่วนทำมาหาได้ในทรัพย์สินดังกล่าวนั้น เห็นว่า ทรัพย์ทั้ง 3 รายการดังกล่าวล้วนได้มาในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากันทั้งสิ้นต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกันโดยไม่อาจแบ่งแยกว่าฝ่ายใดประกอบอาชีพมีรายได้มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร หรือทำการงานเหน็ดเหนื่อยกว่ากันเพียงใด การที่จำเลยที่ 1ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมีรายได้มากก็เห็นได้ว่าเนื่องจากโจทก์ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลความเป็นอยู่ของจำเลยที่ 1 ส่วนหนึ่งด้วยโจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ทั้ง 3 รายการดังกล่าว สำหรับปัญหาว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของเพียงใดนั้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 จำเลยที่ 1กล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นย่อมต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยที่ 1ก็นำสืบพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ได้ คงอ้างเอาลอย ๆในฎีกาว่าส่วนของโจทก์มีไม่เกินหนึ่งในสิบส่วนโดยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุน ยิ่งกว่านั้น สำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059 จำเลยที่ 1 ก็มิได้ฎีกาโต้เถียงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 และมิได้โต้เถียงถึงส่วนแห่งความเป็นเจ้าของ จึงรับฟังได้มั่นคงว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ทั้ง 3 รายการ ดังกล่าวกึ่งหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่าโจทก์รับว่าตกลงแยกทางกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 เมษายน2539 ขณะนั้นเงินฝากในธนาคารมีเพียง 141,513.20 บาทหากฟังว่าโจทก์มีส่วนกึ่งหนึ่งก็จะได้ส่วนแบ่งเพียง 75,356.60 บาทนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1059 ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้อง เพราะให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ได้มีคำขอ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถแบ่งที่ดินได้เพราะไม่ใช่มีชื่อเป็นเจ้าของนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ยกขึ้นฎีกาได้และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป สำหรับการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อ กับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ขาย เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นโมฆะ แต่ได้ความตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 แล้วก็ปลูกบ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 2 อยู่อาศัยตลอดมาแสดงว่าจำเลยที่ 3 โอนการครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เข้ายึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนี้โดยไม่จำต้องทำตามแบบของนิติกรรม ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อโอนการครอบครองไปแล้วย่อมสิ้นสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนี้การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินแปลงนี้ แต่กลับเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนี้โดยโจทก์มิได้มีคำขอและศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงพิพากษายืนนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับรับรองสิทธิของโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินแปลงนี้เสียก่อนที่จะนำไปสู่การบังคับให้จำเลยที่ 1 แบ่งให้โจทก์ ไม่ถึงกับเป็นการเกินคำขอแต่อย่างใดแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 1 ต้องแบ่งตัวที่ดินให้โจทก์เท่านั้นไม่อาจแบ่งแยกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องดำเนินการทางทะเบียนให้ จึงบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท โดยไม่แยกเป็นรายสำนวนนั้นไม่ถูกต้องเพราะสำนวนหลัง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่ความ จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่บังคับให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ในสำนวนแรกโดยกำหนดค่าทนายความ1,500 บาท และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ในสำนวนหลังโดยกำหนดค่าทนายความ1,500 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ในสำนวนแรก 1,500 บาท แทนโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ในสำนวนหลัง 1,500 บาท แทนโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา ให้เป็นพับ