แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 290,372 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินคนละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 กรกฎาคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดไม่เกินคนละ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไป เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 2 เมษายน 2538 รวม 13,300 บาท ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้รวมเป็นเงิน 13,300 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชดใช้หนี้ดังกล่าวตลอดมาจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง อายุความย่อมสะดุดหยุดลง คดีโจทก์ส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี เห็นว่า ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 ลงชื่อรับสภาพหนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 วันที่ 22 กันยายน 2537 และวันที่ 6 มีนาคม 2538 ตามลำดับ แม้การรับสภาพหนี้จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 ก็พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว และแม้ในหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยที่ 1 จะยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายให้โจทก์ก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือ วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 อายุความสะดุดหยุดลงอันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือ วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินกว่า 10 ปี แล้วเช่นกัน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 จำนวนรวม 13,300 บาท จึงขาดอายุความแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.2 ในส่วนสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จำนวน 58,000 บาท ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เกิดสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันจ่ายเงินค่าเสียหาย อายุความย่อมเริ่มนับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันทำละเมิด เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขับรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างในคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง คือวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทชนรถยนต์คันอื่นและทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2538 ถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าได้ตั้งกรรมการสอบสวน และเมื่อทราบว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดแล้วจึงได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์และจ่ายค่าซ่อมไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 ยังไม่พ้นเวลาสิบปีก็ตาม ฟ้องโจทก์ส่วนนี้ก็ขาดอายุความแล้ว เพราะอายุความในกรณีดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายไป ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถโดยสารของโจทก์จำนวน 58,000 บาท ขาดอายุความชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน