คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในบัญชีระบุพยานของจำเลยลำดับที่ 3 และที่ 4ได้ระบุชื่อพยานไว้ กับระบุว่า “ที่อยู่จะเสนอต่อศาลในวันขอหมายเรียก” เมื่อบัญชีระบุพยานดังกล่าวมิได้ระบุที่อยู่ของบุคคล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบัญชีระบุพยานที่ไม่ชอบศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานดังกล่าวนั้นได้ นับแต่จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบจนกระทั่งถึงวันสืบพยานจำเลยครั้งหลังสุดมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 7 เดือน ระหว่างนั้นจำเลยมีโอกาสที่จะติดตามตัวหรือสืบทราบที่อยู่ของพยานได้ และแม้จำเลยจะยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลใหม่ จำเลยก็ยังไม่รู้ที่อยู่ของพยานและไม่สามารถระบุที่อยู่ของพยานได้อีก ดังนี้การรอสืบพยานจำเลยย่อมไม่มีเวลาสิ้นสุด ตราบใดที่จำเลยยังติดตามตัวพยานเพื่อสืบหาที่อยู่ของพยานไม่ได้ ย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดี เพราะการให้โอกาสในการดำเนินคดีจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมแก่โจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายมิใช่จะมุ่งให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 56,713.42 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 56,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 ว่า “สำเนาให้อีกฝ่าย รวมสำนวนไว้รับรวม 2 อันดับ สำหรับอันดับที่ 3 และที่ 4 จำเลยไม่ระบุที่อยู่ให้ชัดเจนจึงไม่รับ” จำเลยโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานจำเลยอันดับที่ 3 และที่ 4
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานจำเลยเนื่องจากไม่ได้ระบุที่อยู่ของพยานเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในบัญชีระบุพยานของจำเลยลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 มี 4 อันดับ สำหรับอันดับ 1และ 2 ระบุที่อยู่ชัดเจน แต่ลำดับที่ 3 และที่ 4 คือ นายอุบลโฉมเฉลา และนายคำตัน รูปงาม ระบุไว้ว่า “ที่อยู่จะเสนอต่อศาลในวันขอหมายเรียก” บัญชีระบุพยานดังกล่าวจึงมิได้ระบุที่อยู่ของบุคคล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่งจึงเป็นบัญชีระบุพยานที่ไม่ชอบซึ่งศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานดังกล่าวนั้นได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า การที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยเป็นการไม่ให้โอกาสจำเลยได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาล ทั้งเป็นการไม่ให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่นั้น เห็นว่านับแต่จำเลยได้รับหมายเรียกสำเนาคำฟ้องโดยชอบจนกระทั่งถึงวันสืบพยานจำเลยครั้งหลังสุดมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 7 เดือน ซึ่งระหว่างนั้นจำเลยมีโอกาสที่จะติดตามตัวหรือสืบทราบที่อยู่ของพยานได้ แต่จำเลยก็ยอมรับตามฎีกาของจำเลยเองว่าแม้จำเลยจะยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลใหม่จำเลยก็ยังไม่รู้ที่อยู่ของพยาน และไม่สามารถระบุที่อยู่ของพยานได้อีก นั่นก็ย่อมหมายความว่า การรอสืบพยานจำเลยไม่มีเวลาสิ้นสุดตราบใดที่จำเลยยังติดตามตัวพยานเพื่อสืบหาที่อยู่ของพยานไม่ได้หากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดี การให้โอกาสในการดำเนินคดีจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมแก่โจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายมิใช่จะมุ่งให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share