คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงอันเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา423 นั้นผู้กระทำจะต้องรู้หรือควรจะรู้ได้ว่าไม่จริงจำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์เพื่อให้นักข่าวของตนซึ่งถูกฆ่าตายได้รับความเป็นธรรมถึงหากข่าวนั้นจะไม่เป็นความจริง โดยมีผู้แอบอ้างชื่อโจทก์นำสร้อยไปมอบให้ภริยารัฐมนตรีเพื่อวิ่งเต้นล้มคดีที่โจทก์ตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่านักข่าวแต่เมื่อมีเหตุที่จำเลยที่ 3 จะคาดคิดเช่นนั้นได้จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจจะรู้ได้ว่าไม่จริงการกระทำของจำเลยที่3 จึงไม่เป็นการทำละเมิด การที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความทำนองว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิด นำความชั่วและเสื่อมเสียมาสู่จังหวัดตราดจนเมื่อโจทก์ถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำ จึงมีฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงเป็นการชำระล้างความชั่วให้หมดสิ้นไป โดยที่โจทก์มิได้เป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์นั้นย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียหรือเกียรติคุณของโจทก์แม้หนังสือพิมพ์จะลงพิมพ์โฆษณาข้อความตามที่ได้รับฟังมาจากบุคคลอื่นเมื่อข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง การกล่าวหรือไขข่าวซ้ำก็เป็นการทำละเมิดทั้งข้อความที่จำเลยที่ 3นำลงพิมพ์โฆษณาหาใช่เป็นการป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่แม้โจทก์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์และถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำเอาคำวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านมาลงพิมพ์โฆษณาว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาการที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความซึ่งควรจะรู้ได้ว่าไม่จริง จึงเป็นการทำละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการและเจ้าของ จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยรัฐ” ได้ร่วมกันลงพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” สองครั้ง อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์กล่าวคือครั้งแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2522 มีข้อความพาดหัวข่าวว่า “แฉ ผวจ.วิ่งเต้นล้มคดีจ้างฆ่าเข้าหาเมีย รมต. โดยปฏิเสธเด้งกลับ” พร้อมกับลงรูปภาพโจทก์กับภริยาไว้ว่า “วิ่งประกันนางบุญเรือน ฤกษ์อุไร (ใส่แว่น) เมีย ผวจ.ปัญญา ฤกษ์อุไร (ภาพเล็ก) ขณะนั่งเก๋งไปเยี่ยมสามีที่โรงพักและกำลังวิ่งเ้นประกันตัว” และได้ลงพิมพ์เป็นข่าวมีข้อความว่านายปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้ต้องหาจ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าว “ไทยรัฐ” ได้วิ่งเต้นล้มคดีก่อนหน้าถูกจับ 2 วัน โดยเอาสร้อยคอพลอยชั้นดีให้เมียข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งนำไปมอบให้ภริยารัฐมนตรีมหาดไทย พลเอกเล็ก แนวมาลี แต่โดนภริยารัฐมนตรีมหาดไทยเชิญออกไปจากบ้าน มีรายงานจากระทรวงมหาดไทยแจ้งมาเมื่อเช้าวานนี้ (14 มิ.ย.) ก่อนหน้าที่นายปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดจะถูกจับกุมในข้อหาจ้างวานฆ่านายพิชิตกิจวิรัตน์ ผู้สื่อข่าว “ไทยรัฐ” ครั้งนี้ นายปัญญา ได้พยายามวิ่งเต้นเพื่อล้มคดีของตนเองอย่างสุดเหวี่ยงกล่าวคือได้นำสร้อยคอพลอยชั้นดี 3 เส้น ราคาเส้นละ 1 แสนบาท เดินทางจากจังหวัดตราดเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นได้นำสร้อยคอทองคำ 2 เส้นไปให้ภริยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งนำไปมอบให้คุณหญิงถวิล แนวมาลี ภริยารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พลเอกเล็ก แนวมาลี ที่บ้านเพื่อให้คุณหญิงถวิลช่วยพูดกับพลเอกเล็กให้ระงับการสอบสวนคดีนี้และระงับการจับกุมตนเอง แต่ปรากฏว่าเมื่อภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนนั้นนำสร้อยคอพลอย 2 เส้นไปให้ คุณหญิงถวิลได้กล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับโดยบอกว่า “ฉันไม่เคยรับของของใคร เรื่องนี้อย่ามายุ่งเกี่ยวกับฉัน” ดังนั้นภริยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนนั้นจึงต้องกลับไปด้วยความผิดหวัง ครั้งที่สองวันที่17 มิถุนายน 2522 มีข้อความพาดหัวข่าวว่า (ผู้ว่าฯ เข้าตะรางชาวตราดบอกพ้นยุคทมิฬ”และได้ลงพิมพ์เป็นข่าวมีข้อความว่า ผู้สื่อข่าวของเราได้รายงานเพิ่มเติมมาอีกเมื่อเช้าวานนี้ (16 มิ.ย.) ว่า หลังจากที่นายปัญญา ฤกษ์อุไร ย่างเหยียบเข้าประตูคุก ภายในคุกได้มีนักโทษตั้งแถวรอรับสมาชิกใหม่ ซึ่งภายหลังจากที่นายปัญญาเข้าไปในคุกแล้วปรากฏว่าฝนฟ้าตกกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงจนประชาชนที่ไปออดูอยู่หน้าประตูคุกพากันหนีฝนกลับและได้มีประชาชนชาวตราดต่างเปิดเผยว่าการที่ฝนตกภายหลังจากที่นายปัญญาเข้าคุกนั้นเป็นนิมิตอันดีและเป็นเสมือนการชำระล้างความชั่วแห่งยุคพ้นจากจังหวัด ชาวจังหวัดตราดคนหนึ่งกล่าวเปิดเผยว่า จังหวัดตราดไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะในตัวผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งที่แล้วมามีถึง 33 คน แต่ละคนที่เดินทางมารับตำแหน่งนี้ไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียและเสียหายเช่นนายปัญญา ฤกษ์อุไร เลย”ฝนตกแบบนี้เป็นการชำระความชั่ว ล้างด้วยน้ำฝนยุดทมิฬจะได้หมดสิ้นไปเสียทีต่อไปนี้ชาวตราดจะอยู่เย็นเป็นสุขแน่ ๆ” ข้อความทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริงเพราะโจทก์ไม่เคยวิ่งเต้นและไม่เคยเข้าหาหรือใช้ให้บุคคลใดเข้าหาเมียข้าราชการผู้ใหญ่เพื่อล้มคดี หรือโดยวิธีการอื่นใดทั้งสิ้น หลังจากที่โจทก์ถูกจับกุมในข้อหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่านักข่าวและไม่ได้รับการประกันตัว ในวันที่โจทก์ถูกควบคุมตัวไปคุมขังในเรือนจำจังหวัดตราด ก็ไม่มีเหตุการณ์ตามที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์”ไทยรัฐ” ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามด้วยการไขข่าวให้แพร่หลายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์เป็นข้าราชการที่ชั่วช้า ไม่มีศีลธรรม ชอบวิ่งเต้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อปกป้องความผิดให้แก่ตัวเองทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย กับให้โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวัน โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วและอยู่ในระหว่างชำระบัญชี จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่มิได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 3เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดเกี่ยวกับข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 จำเลยที่ 3 ได้ลงพิมพ์โฆษณาข่าวในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ตามฟ้อง แต่ข้อความดังกล่าวมิได้ใส่ความโจทก์โดยฝ่าฝืนความจริง คดีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าจ้างวานฆ่านายพิชิต กิจวิรัตน์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” อยู่ในความสนใจของประชาชนและเป็นข่าวสำคัญ ทั้งจำเลย (ที่ 3) ได้ลงข่าวดังกล่าวโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ซึ่งผู้สื่อข่าวของตนถูกฆ่าตายตามคลองธรรมด้วยจึงไม่เป็นละเมิด หากโจทก์จะเสียหายก็ไม่เกิน 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมทำละเมิดกับจำเลยที่ 3 ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 โดยผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การไขข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2522 สรุปข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้วิ่งเต้นล้มคดีก่อนหน้าถูกจับ 2 วัน โดยเอาสร้อยคอพลอยชั้นดีให้ภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งนำไปมอบให้ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ช่วยพูดกับสามีให้ระงับการสอบสวนคดีนี้และระงับการจับกุม แต่ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธไม่ยอมรับ โจทก์อ้างตนเองเบิอกความเป็นพยานว่าเหตุที่โจทก์ตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดตราดก็เพราะประธานสภาจังหวัดตราดให้การซัดทอด โจทก์ไม่ได้วิ่งเต้นล้มคดี เพราะในวันที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวโจทก์ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดตราด ไม่สามารถออกมาวิ่งเต้นได้ โจทก์ไม่เคยวิ่งเต้นหาผู้ใหญ่หรือเอาสร้อยไปให้ผู้ใหญ่เพื่อให้ล้มคดี และไม่เคยใช้ให้ผู้ใดไปพบภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 อ้างคุณหญิงถวิล แนวมาลี ภริยาพลเอกเล็ก แนวมาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อปี พ.ศ. 2522 พลเอกเล็ก แนวมาลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปีนั้นโจทกืซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ถูกกล่าวหาว่าใช้จ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐพยานทราบเรื่องดี ในปีนั้นเองจะเป็นเดือนอะไรจำไมไ่ด้ ได้มีหญิงคนหนึ่งไปาพยานโดยไม่ได้แจ้งว่าเป็นใครนำสร้อยคอและสร้อยข้อมือที่ทำด้วยพลอยจำนวน 2 เส้น ไปบอกพยานว่าโจทก์ฝากมาให้ แต่พยานไม่ยอมรับ การที่มีการฝากของมาให้พยานระหว่างนั้นโดยสามัญสำนึกของพยานเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์ซึ่งกำลังมีเรื่องอยู่ การที่นำสร้อยมาให้คงจะเป็นการมาขอความช่วยเหลือต่อมาได้มีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาสอบถามเรื่องนี้ พยานก็แจ้งให้ทราบแล้วหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ลงข่าววที่พยานให้ไป ศาลฎีกาเห็นว่า คุณหญิงถวิล แนวมาลีพยานจำเลยเป็นภริยารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงซึ่งโจทก์รับราชการในสังกัด ไม่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะมาเบิกความเข้าข้างจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่พยานเบิกความ ถึงแม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่เคยใช้ให้ผู้ใดไปพบภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานรู้เห็นว่าหญิงซึ่งนำสร้อยไปมอบให้ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ที่โจทก์มอบหมายให้ไปเพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีก็มีเหตุที่จำเลยที่ 3 จะคาดคิดเช่นนั้น เพราะหญิงซึ่งนำสร้อยไปบอกคุณหญิงถวิล แนวมาลี ว่าโจทก์ฝากมาให้ และโดยทั่วไปย่อมไม่มีใครที่จะให้สิ่งของมีค่าแก่บุคคลอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งนักข่าวถูกฆ่า ย่อมมีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการต่อต้านการวิ่งเต้นล้มคดีเพื่อให้นักข่าวของเพื่อให้นักข่าวของตนได้รับความเป็นธรรม การนำเอาข่าวมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นวิถีทางหนึ่งที่นักหนังสือพิมพ์จะใช้เรียกร้องความเป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอำนาจหรืออิทธิพล การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงอันเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 นั้น ผู้กระทำจะต้องรู้หรือควรจะรู้ได้ว่าไม่จริง จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันที่15 มิถุนายน 2522 เพื่อให้นักข่าวของตนได้รับความเป็นธรรม ถึงหากข่าวนั้นจะไม่เป็นความจริง โดยมีผู้แอบอ้างชื่อโจทก์นำสร้อยไปมอบให้ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่จำเลยที่ 3 ไม่อาจจะรู้ได้ว่าไม่จริง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการทำละเมิด
ส่วนการไขข่าวครั้งที่สองเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2522 สรุปข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ว่า หลังจากโจทก์ถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำแล้วฝนได้ตกกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรง ประชาชนชาวตราดต่างเปิดเผยว่า เป็นนิมิตอันดีและเป็นเสมือนการชำระล้างความชั่วให้พ้นไปจากจังหวัดตราด ชาวจังหวัดตราดคนหนึ่งกล่าวเปิดเผยว่าจังหวัดตราดไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดตราดซึ่งมีมาแล้ว 33 คน ไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียและเสียหายเช่นโจทก์เลยฝนตกแบบนี้เป็นการชำระความชั่ว ล้างด้วยน้ำฝนยุคทมิฬจะได้หมดสิ้นไปเสียที ต่อไปนี้ชาวตราดจะอยู่เย็นเป็นสุข ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ถูกจับเป็นผู้ต้องหาฐานใช้จ้างวานฆ่านักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแต่ต่อมาเมื่อโจทก์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล ศาลได้พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานอย่างใดนำสืบให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความทำนองว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดนำความชั่วและเสื่อมเสียมาสู่จังหวัดตราด จนเมื่อโจทก์ถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำจึงมีฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงเป็นการชำระล้างความชั่วให้หมดสิ้นไป ย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ ถึงแม้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะลงพิมพ์โฆษณาข้อความตามที่ได้รับฟังมาจากบุคคลอื่นเมื่อข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความจริงการกล่าวหรือไขข่าวซ้ำก็เป็นการทำละเมิดโดยไม่อาจแก้ตัวได้ข้อความที่จำเลยที่ 3นำลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าว หาใช่เป็นการป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนกระทำไม่ ถึงแม้โจทก์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่านักข่าวและถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะนำเอาคำวิพากย์วิจารณ์ของชาวบ้านมาลงพิมพ์โฆษณาว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความซึ่งควรจะรู้ได้ว่าไม่จริง ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การลงข่าวของจำเลยที่ 2 มิได้ทำให้โจทก์เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญแต่อย่างใด หากโจกท์จะเสียหายก็ไม่ควรเกิน 3,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาหรือไม่ แต่ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น ก็เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวสองครั้ง เมื่อจำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์เพียงครั้งเดียวดังวินิจฉัยแล้วจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่งซึ่งพอสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาทค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share