แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงโจทก์และสัญญาว่าจะชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดตลอดไปตามข้อบังคับจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่ใช้จริงเต็มจำนวนแม้การต่อสายไฟฟ้าสลับขั้วผิดพลาดจะเกิดจากการกระทำของพนักงานของโจทก์เองโดยจำเลยมิได้มีส่วนผิดพลาดด้วยก็ตามโจทก์ก็สามารถเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยใช้ไปตามความเป็นจริงได้ตามข้อบังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังไฟฟ้า จำเลยเป็นผู้ครอบครองโรงงานพลาสติกเลขที่ 95หมู่ที่ 1 ซอยกลับเจริญ ตำบลในคลองบางปลากลดกิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้ไฟฟ้าของโจทก์ซึ่งมีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ดับบลิวพี-3330 ติดตั้งอยู่ที่โรงงานของจำเลย ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2530 จำเลยขอเพิ่มขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าจากขนาดเดิม 15 แอมแปร์ เป็น 300 แอมแปร์โจทก์เปลี่ยนขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามขนาดที่จำเลยขอเพิ่มให้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2532พนักงานของโจทก์ตรวจพบว่า เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ดับบลิวพี-3330 วัดค่าที่เส้นศูนย์ได้ค่าสูงผิดปกติ สาเหตุมาจากพนักงานของโจทก์ต่อสายควบคุมกระแสสลับขั้วระหว่างเส้นสีเขียวกับเส้นสีดำที่ขั้วของตัวลดกระแสไฟฟ้า เป็นผลให้กระแสไฟฟ้าบางส่วนไหลลงดินไม่ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าน้อยกว่าจำนวนกระแสไฟฟ้าที่จำเลยใช้จริงต่อมาระหว่างวันที่ 18 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2532 โจทก์นำเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามาตรฐานพร้อมตัวลดกระแสไฟฟ้าไปติดตั้งเปรียบเทียบกับเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ดับบลิวพี-3330 ปรากฏว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ดับบลิวพี-3330 แสดงค่าหน่วยน้อยไปร้อยละ 69.40 เมื่อพิจารณาจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประจำโรงงานของจำเลยแสดงค่าไม่ถูกต้องตั้งแต่วันที่โจทก์ติดตั้งให้ใหม่ ตามที่จำเลยขอเพิ่มขนาดจนถึงวันที่โจทก์นำเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามาตรฐานพร้อมตัวลดกระแสไฟฟ้าไปติดตั้งเปรียบเทียบ เมื่อคำนวณค่ากระแสไฟฟ้าให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยเพิ่มหน่วยการใช้ไฟฟ้าตามจำนวนร้อยละที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงว่าผิดพลาดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์2531 ถึงเดือนมีนาคม 2532 เป็นเงิน 1,841,853.81 บาท โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินเรียกเก็บเงินจากจำเลยในช่วงดังกล่าวเพียง624,682.98 บาท ที่เหลืออีกจำนวน 1,217,170.83 บาทโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2532จำเลยเพิกเฉย จำเลยค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 213,505.10 บาท รวมเป็นเงิน 1,430,675.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,430,675.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,217,170.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า พนักงานของโจทก์เปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามที่จำเลยขอเพิ่ม โดยติดตั้งขั้วของไฟฟ้าผิดไปจากหลักวิชาการของโจทก์ เป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าบางส่วนไหลลงดินจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และจำเลยมิได้นำกระแสไฟฟ้าส่วนที่ไหลลงดินมาใช้ กระแสไฟฟ้าจำนวนที่สูญเปล่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตั้งแต่ปี 2527เป็นต้นมาจำเลยเป็นผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ดับบลิวพี-3330 ซึ่งติดตั้งเพื่อวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่โรงงานผลิตถุงพลาสติกของจำเลย ต่อมาเดือนมกราคม 2530 จำเลยได้ยื่นความจำนงขอเพิ่มขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าจากเดิมขนาด 15 แอมแปร์ 380/220 โวลต์ 3 ยก 4 สายเป็นขนาด 300 แอมแปร์ 380/220 โวลด์ 3 ยก 4 สาย และสัญญาว่าจะชำระค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดตลอดไปจนกว่าจะบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และจะปฏิบัติตามข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าของโจทก์รวมทั้งที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปทุกประการ ซึ่งโจทก์ออกข้อบังคับดังกล่าวตามมาตรา 23แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 โจทก์อนุมัติให้จำเลยเพิ่มขนาดได้และเปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้จำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2532 พนักงานของโจทก์ตรวจพบว่า เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ดับบลิวพี-3330ติดตั้งเพื่อวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่โรงงานผลิตถุงพลาสติกของจำเลยวัดค่าที่เส้นศูนย์ได้ค่าสูงผิดปกติเนื่องจากพนักงานของโจทก์ต่อสายควบคุมกระแสไฟฟ้าสลับขั้วกันระหว่างเส้นสีเขียวกับเส้นสีดำที่ขั้วของตัวลดกระแสไฟฟ้าตามอัตราส่วนเป็นผลให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าน้อยกว่าจำนวนกระแสไฟฟ้าที่จำเลยได้ใช้จริงโจทก์ได้นำเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานพร้อมตัวลดกระแสไฟฟ้าตามอัตราส่วนไปติดตั้งเปรียบเทียบกับเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยปรากฏว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยแสดงค่าหน่วยน้อยไปร้อยละ69.40 เมื่อคำนวณค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ถึงเดือนมีนาคม 2532 ตามจำนวนหน่วยที่ถูกต้องแล้วเป็นเงินค่าไฟฟ้าจำนวน1,841,853.81 บาท แต่โจทก์เรียกเก็บเพียง 624,682.98 บาทจึงเหลือค่าไฟฟ้าที่จำเลยชำระไม่ครบจำนวน 1,217,170.83 บาทซึ่งการต่อสายควบคุมกระแสไฟฟ้าสลับขั้วผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากพนักงานของโจทก์เอง จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจำนวนที่ขาดไปจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์และสัญญาว่าจะชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดตลอดไปตามข้อบังคับจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่ใช้จริงเต็มจำนวน แม้การต่อสายไฟฟ้าสลับขั้วผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพนักงานของโจทก์เอง โดยจำเลยมิได้มีส่วนผิดพลาดด้วยก็ตาม โจทก์ก็สามารถเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยใช้ไปตามความเป็นจริงได้ตามข้อบังคับสำหรับกรณีนี้โจทก์นำสืบยืนยันว่าจำเลยได้ใช้กระแสไฟฟ้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2531ถึงเดือนมีนาคม 2532 ตามความเป็นจริงเป็นเงิน 1,841,853.81 บาทแต่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยเพียง 624,682.98 บาท ยังขาด1,217,170.83 บาท จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างว่าจำเลยไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์จำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าจำนวนที่ขาดไปได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,217,170.83 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม2532 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์