คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความในสัญญาเช่าฉางระบุว่าจำเลยเป็นผู้ให้เช่าฉางของจำเลยแต่ผู้เดียว โดยมิได้ระบุว่าเป็นตัวแทนผู้ใดต้องถือว่าจำเลยยอมผูกพันตนเองเข้ารับผิดตามสัญญาเป็นการส่วนตัว การที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบว่าตนกระทำในฐานะเป็นตัวแทน โดยไม่ยอมรับผิดเป็นส่วนตัวจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์เช่าฉางจากจำเลยแล้วนำข้างเปลือกเก็บไว้ โดยจำเลย เป็นผู้รับและจ่ายข้าวเปลือกคืนโจทก์ เข้าลักษณะฝากทรัพย์เมื่อข้าวเปลือกที่ฝากขาดหายไปจากการครอบครองของจำเลยผู้รับฝาก การที่โจทก์ผู้ฝากฟ้องร้องเรียกราคาข้าวเปลือกที่ฝากคืนจากจำเลย ซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ซึ่งมีอายุความสิบปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2523 จำเลยตกลงให้โจทก์เช่าฉางสำหรับเก็บรักษาข้าวเปลือก 2 ฉาง ของจำเลย มีกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2524 อัตราค่าเช่าฉางชำระเป็นรายปีตามความจุของฉาง โดยคิดค่าเช่าในอัตราเกวียนละ 110 บาท แบ่งชำระค่าเช่าเป็น 2 งวด งวดแรกภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญา งวดที่ 2 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดสัญญา โจทก์นำข้าวเปลือกเจ้ารวมทั้งสิ้น 868,857.50 กิโลกรัมเก็บฝางในฉางของจำเลยตามสัญญา ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524โจทก์ได้นำข้าวเปลือกที่เก็บรักษาออกจากฉางครั้งสุดท้าย ปรากฏว่าไม่มีข้าวเปลือกเหลืออยู่ในฉาง ข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10 – 15 เปอร์เซนต์สูญหายและขาดจำนวนไป 6,501 กิโลกรัมชนิด 20 – 25 เปอร์เซนต์ สูญหายและขาดจำนวนไป 85,007 กิโลกรัมเมื่อหักข้าวเปลือกยุบตัวตามสภาพ 2 เปอร์เซนต์ ของจำนวนข้าวเปลือกแต่ละชนิดแล้ว ข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10 – 15 เปอร์เซนต์ สูญหายและขาดจำนวนไป 4,811.58 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 14,434.74 บาทชนิด 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ สูญหายและขาดจำนวนไป 69,566.86 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 201,743.89 บาท รวมทั้งสิ้น 216,178.36 บาท และเมื่อหักค่าเช่าฉางและค่ากรรมกรในการแบกขนข้าวที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์จำนวน 21,326.23 บาทแล้วคงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชำระต่อโจทก์เป็นเงิน 194,852.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ข้าวไม่เหลืออยู่ในฉางคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524 ถึงวันฟ้อง ซึ่งโจทก์ขอคิดเป็นเวลา5 ปี เป็นเงิน 73,069 บาท รวมเป็นเงิน 267,922 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 267,922 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินจำนวน 194,852.40 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีฉางข้าว ไม่เคยทำสัญญารับฝากข้าวกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว เมื่อประมาณปี 2522 จำเลยเป็นประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงสี กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าข้าวประเภทสีข้าว และจดทะเบียนการค้าประกอบการค้าข้าวประเภท 6 คลังสินค้ารับฝากข้าวเปลือกจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรและโรงสีชนิด 1 การสีข้าวใช้ชื่อผู้ประกอบการค้า คือกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง และได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรงสีกลุ่มเกษตรกรอำเภอท่าวุ้ง ที่สำนักงานเกษตรอำเภอท่าวุ้ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2523 ในที่ประชุมมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าฉางและแปรสภาพข้างเปลือกกับโจทก์ ขณะนั้นจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการโรงสีกลุ่มเกษตรกรได้ลงลายมือชื่อแทนคณะกรรมการโรงสีกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีมติให้ทางโรงสีดำเนินการรับฝากข้าวเปลือกจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาเช่าฉางตามฟ้องภายในขอบอำนาจของตัวแทน หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์ได้นำข้าวเปลือกเข้ามาเก็บฝากและเบิกจ่ายออกไปจากฉางครบถ้วนแล้ว กลุ่มเกษตรกรโดยมีจำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจึงได้ถอนเงินประกันจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาลพบุรี จำนวน2,000,000 บาท โดยฝ่ายโจทก์มิได้คัดค้าน จำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกให้ชำระราคาข้าวเปลือกที่ขาดหายไปภายใน 10 ปี นับแต่เดือนธันวาคม 2523ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าฉางตามเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.3 ไว้ และโจทก์ได้นำข้าวเปลือกเข้าเก็บ จำเลยรับไว้และจ่ายข้าวออกมาให้โจทก์มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทำสัญญาให้เช่าฉางในฐานะเป็นตัวแทนกระทำการแทนโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรงหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่หลักฐานหรือหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยทำสัญญาแทนโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง การเช่าฉางซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อไม่มีหนังสือมอบอำนาจตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนการกระทำของจำเลย จึงผูกพันเฉพาะตัวจำเลย ไม่ผูกพันโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง การที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย จ.5จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94รับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.2 เป็นเพียงสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการโรงสีกลุ่มเกษตรอำเภอท่าวุ้ง มีมติให้จำเลยทำสัญญาให้การเช่าฉางและแปรสภาพข้าวเปลือกกับโจทก์แทนเท่านั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจให้ทำแทน และตามเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความในสัญญาปรากฏชัดเจนว่า จำเลยเป็นผู้ให้เช่าฉางของจำเลยแต่ผู้เดียว โดยมิได้ระบุว่าเป็นตัวแทนผู้ใด เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยยอมผูกพันตนเองเข้ารับผิดตามสัญญาเป็นการส่วนตัวฉะนั้นการที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบว่าตนได้กระทำในฐานะเป็นตัวแทนโดยไม่ยอมรับผิดเป็นส่วนตัว จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาต้องห้ามตามห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบเอกสารหมาย จ.5 จึงฟังได้ว่า จำเลยให้เช่าฉางเป็นการส่วนตัว มิใช่ทำแทนโรงสีกลุ่มเกษตรทำนาหัวสำโรง จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าข้าวเปลือกที่ฝากไว้ในฉางที่เช่าให้โจทก์เพียงใดและคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลดังกล่าววินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก่อน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจ่ายข้าวเปลือกให้โจทก์ขาดไปจริงตามฟ้อง มีปัญหาต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบได้ความว่า โจทก์เช่าฉางจากจำเลยแล้วนำข้าวเปลือกเข้าเก็บไว้ โดยจำเลยเป็นผู้รับและจ่ายข้าวเปลือกคืนโจทก์ เข้าลักษณะฝากทรัพย์ไว้กับจำเลยเมื่อข้าวเปลือกที่ฝากขาดหายไปจากการครอบครองของผู้รับฝากการที่ผู้ฝากฟ้องเรียกราคาข้าวเปลือกที่ฝากคืนจากผู้รับฝากซึ่งมิได้มีบทกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ไว้จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30(164 เดิม) ซึ่งมีอายุความสิบปี โจทก์สั่งจ่ายข้าวเปลือกจากจำเลยครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524และได้ทราบว่าข้าวเปลือกขาดหายไป อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวหาใช่เริ่มนับแต่เดือนธันวาคม 2523 ดังที่จำเลยอ้างโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 11 มกราคม 2534 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 267,922 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 194,852.40 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share