แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) และมาตรา 1087ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน จำกัด เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.จำเลยก็ต้องรับผิดตามเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077(2),900 วรรคแรก การที่จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพ. เป็นการตอบแทนในการที่ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจะไม่ยื่นซองประมูลงานแข่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างผู้สั่งจ่ายคือจำเลยกับผู้ทรงคนก่อน คือห้างหุ้นส่วนจำกัด พ.ในกรณีเช่นนี้ จำเลยจะยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ทรงได้ต่อเมื่อได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. หรือผู้ทรงคนถัดไปโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916เท่านั้น จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่ามีการโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยจึงยกข้อต่อสู้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาพะเยา ซึ่งจำเลยสั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 53,349.32 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดกฤษณ และจำเลยได้ลงนามสั่งจ่ายเช็คพิพาทในนามของห้างดังกล่าวมอบให้นายสุวิทย์หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ธำรงวิทย์ เพื่อมิให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่ธำรงวิทย์ยื่นซองประกวดราคากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแข่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ ที่จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ ประมูลงานไม่ได้ จึงได้สั่งให้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คนั้นในฐานะส่วนตัว โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการสั่งจ่ายเช็คในนามของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจำเลยจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 ได้บัญญัติแยกให้เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นมีผู้ถือหุ้นอยู่ 2 จำพวกจำพวกหนึ่งได้แก่จำพวกจำกัดความรับผิดคือรับผิดเฉพาะเท่าที่ตนรับจะลงหุ้นเท่านั้น และอีกจำพวกหนึ่งได้แก่จำพวกไม่จำกัดความรับผิด คือร่วมรับผิดเป็นส่วนตัวในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน และมาตรา 1087 บัญญัติไว้ว่าผู้ที่จะเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ก็แต่เฉพาะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น โดยไม่จำกัดจำนวน นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคแรก บัญญัติว่าบุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ดังนั้นแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ ก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดตามเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1077(2), 900 วรรคแรก ดังกล่าว หาใช่หากจำเลยทำในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ แล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวดังที่จำเลยฎีกาไม่
ส่วนฎีกาของจำเลยข้อต่อไปที่ว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทนั้น พิเคราะห์แล้วคดีนี้จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ธำรงวิทย์ เป็นการตอบแทนในการที่ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจะไม่ยื่นซองประมูลงานแข่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับโจทก์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด กฤษณ ไม่มีนิติสัมพันธ์และไม่มีมูลหนี้ต่อกัน การที่โจทก์นำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้นเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย ยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างผู้สั่งจ่ายคือ จำเลยกับผู้ทรงคนก่อนคือห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่ธำรงวิทย์ ในกรณีเช่นนี้จำเลยจะยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่ธำรงวิทย์ หรือผู้ทรงคนถัดไปโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 916 เท่านั้น แต่ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่ามีการโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยจึงยกข้อต่อสู้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ดังกล่าวส่วนที่จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจำเลยก็ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สุจริตอย่างไร ทั้งไม่อาจแปลความหมายได้ว่าโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่ธำรงวิทย์ หรือผู้ทรงคนถัดไปคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย คำให้การของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยจำเลยไม่มีข้ออ้างอันชอบด้วยกฎหมายที่จะไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทดังได้กล่าวมาแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาท ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาทชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน