คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1583/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรับขนของจากประเทศเดนมารค์และนอร์เวย์มายังประเทศไทย. แม้ของจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ยังเป็นสัญญาในการรับขนของทางทะเล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609.ซึ่งในปัจจุบันนี้กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล.
การตกลงกันให้ใช้กฎหมายเดนมาร์คบังคับแก่ข้อพิพาท ย่อมจะให้ใช้ได้เพียงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย.
กฎหมายเรื่องอายุความ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประเทศไทย. ฉะนั้น ข้อตกลงหรือเงื่อนไขในใบตราส่งในส่วนที่จะให้มีผลถึงการใช้กฎหมายเรื่องอายุความของกฎหมายเดนมาร์คมาบังคับแก่ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงใช้บังคับไม่ได้.
แม้โจทก์จะไปรับสินค้าจากจำเลยเป็นเวลาล่าช้าก็ดี ก็ไม่เป็นเหตุถึงกับจะทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะรับสินค้านั้นจากจำเลย. หากการล่าช้านั้นเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่จำเลยอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันได้.
โจทก์เป็นผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบตามใบกำกับสินค้าซึ่งมีรายการตามใบตราส่งและซึ่งมีอยู่ที่จำเลยนั้น. ปรากฏว่า รายการเกี่ยวกับผู้รับตราส่งลงไว้โดยมิได้ระบุชื่อผู้ใด. แต่ลงว่า ‘ตามคำสั่ง’ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งมอบสินค้านั้นให้แก่ผู้ทรงใบตราส่ง. แต่จำเลยกลับมอบสินค้านั้นแก่บริษัทอุดมจำกัดไปโดยที่บริษัทอุดม จำกัด มิใช่ผู้รับตราส่งไม่ได้เป็นผู้ทรงใบตราส่ง. เป็นการส่งโดยมิชอบ แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันเช่นนั้น.จำเลยก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์.
โจทก์เป็นทั้งผู้ทรงใบตราส่งและผู้ทรงตั๋วแลกเงิน.ตั๋วแลกเงินยังไม่ได้มีการใช้เงิน. หนี้จึงยังไม่ระงับสิ้นไป. โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย.
จำเลยอาจฟ้องธนาคารแหลมทอง จำกัด เรียกให้ชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารแหลมทอง จำกัด เป็นผู้ค้ำประกัน. ในการที่บริษัทอุดม จำกัด รับสินค้าไปจากจำเลย. ถ้าหากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้. จำเลยก็ย่อมจะขอให้เรียกธนาคารแหลมทอง จำกัดเข้ามาในคดีได้. แต่จะพิพากษาให้ธนาคารแหลมทองจำกัดต้องรับผิดแทนจำเลยหาได้ไม่. เพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดกับธนาคารแหลมทองจำกัด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2494 ถึงเดือนมกราคม 2495จำเลยรับขนสินค้ากระดาษตามคำสั่งของบริษัทพรูสต์ แอนด์แบรนดต์ จำกัด และบริษัทโทรีเซ็น จำกัด เพื่อส่งมายังกรุงเทพโดยจำเลยออกใบตราส่งให้เป็นหลักฐานสินค้าดังกล่าวมีราคา15,550 ปอนด์ 16 ชิลลิง 5 เพนซ์ บริษัทดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอยในใบตราส่งแล้วมอบให้แก่โจทก์ผ่านทางตัวแทนในต่างประเทศ สินค้าตามใบตราส่งเป็นสินค้าที่บริษัทอุดม จำกัดขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร ออฟ เครดิต สั่งซื้อจากผู้ส่งสินค้าดังกล่าวตามประเพณีการค้าและการธนาคาร ธนาคารจะต้องรับรองการชำระราคาต่อผู้ขาย โดยยอมรับซื้อตั๋วแลกเงินที่ผู้ขายจะพึงออกเรียกเก็บราคาสินค้า เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บจากผู้ซื้อได้ในภายหลังธนาคารตัวแทนโจทก์ในต่างประเทศได้ชำระราคาสินค้าแก่ผู้ขายแล้วบริษัทจึงสลักหลังลอยใบตราส่ง และส่งมอบใบตราส่งผ่านธนาคารตัวแทนโจทก์จนถึงมือโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งและมีสิทธิรับสินค้าตามใบตราส่งแต่ผู้เดียว เมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงเกาะสีชัง จำเลยได้ส่งมอบสินค้าตามใบตราส่งให้แก่บริษัทอุดมไปโดยที่จำเลยทราบหรือควรจะทราบว่าบริษัทอุดมไม่ใช่ผู้รับตราส่งไม่ใช่ผู้ทรงใบตราส่ง ภายใต้การค้ำประกันของธนาคารแหลมทอง จำกัดหลังจากนั้นบริษัทอุดมไม่เคยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน ขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 914,942.06 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิด บริษัทอุดมเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจึงเป็นผู้รับตราส่ง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกธนาคารแหลมทอง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต ธนาคารแหลมทองให้การต่อสู้หลายประการว่าตนไม่ต้องรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 914,942.04 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง ส่วนธนาคารแหลมทองจำเลยร่วมนั้นมิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อโจทก์ โจทก์มิได้ฟ้องให้รับผิด บริษัทอิสต์เอเซียติ๊ก จำกัด อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน บริษัทอิสต์เอเซียติ๊กฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า (1) เรื่องอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องการรับขนของจากประเทศเดนมาร์คและประเทศนอรเวย์มายังประเทศไทยแม้ของจะมาถึงประเทศไทยแล้วก็ยังเป็นสัญญาในการรับขนของทางทะเลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคท้าย แต่ในปัจจุบันนี้กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้และฎีกาขึ้นมานั้น ไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล และสำหรับเรื่องอายุความนี้มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 บัญญัติอยู่ ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องในคดีนี้จึงต้องใช้กำหนด 10 ปี จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 มาใช้บังคับแก่คดีนี้หาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยต่อสู้และฎีกาขึ้นมาด้วยว่า ตามเงื่อนไขแห่งใบตราส่ง ข้อพิพาทนี้ให้ใช้กฎหมายเดนมาร์คบังคับนั้น เห็นว่าการตกลงกันให้ใช้กฎหมายเดนมาร์คแก่ข้อพิพาทในคดีนี้ ย่อมจะให้ใช้ได้เพียงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย แต่กฎหมายเรื่องอายุความนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประเทศไทย ฉะนั้น ข้อตกลงหรือเงื่อนไขในใบตราส่งดังกล่าวแล้วในส่วนที่จะให้มีผลถึงการให้ใช้กฎหมายเรื่องอายุความของกฎหมายเดนมาร์คมาบังคับแก่ข้อพิพาทในคดีนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ (2) เรื่องโจทก์มาขอรับสินค้าล่าช้านั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะไปรับสินค้าจากจำเลยเป็นเวลาล่าช้าก็ดี ก็ไม่เป็นเหตุถึงกับจะทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะรับสินค้านั้นจากจำเลย หากการล่าช้านั้นเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่จำเลยอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันได้ แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบและจำเลยก็รับอยู่ว่าตามใบกำกับสินค้าซึ่งมีรายการตามใบตราส่งและซึ่งมีอยู่ที่จำเลยนั้น ปรากฏว่ารายการเกี่ยวกับผู้รับใบตราส่งลงไว้โดยมิได้ระบุชื่อผู้ใด แต่ลงว่า “ตามคำสั่ง” ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งมอบสินค้านั้นให้แก่ผู้ทรงใบตราส่ง แต่จำเลยกลับมอบสินค้านั้นให้แก่บริษัทอุดม จำกัด ไป โดยที่บริษัทอุดม จำกัดไม่ได้เป็นผู้รับตราส่ง ไม่ได้เป็นผู้ทรงใบตราส่ง เป็นการส่งมอบโดยมิชอบซึ่งจำเลยก็รู้ดีอยู่ จึงได้ให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกัน แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันเช่นนั้นจำเลยก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ (3) เรื่องราคาสินค้าได้เปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงิน โจทก์มิใช่ผู้ทรงใบตราส่งนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์เป็นทั้งผู้ทรงใบตราส่งและเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงิน ตั๋วแลกเงินนี้ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้มีการใช้เงิน หนี้จึงยังไม่ระงับสิ้นไป แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้ไปขอรับชำระหนี้ราคาสินค้าตามตั๋วแลกเงินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทอุดม จำกัด เด็ดขาดในคดีล้มละลาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้นแล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงยังมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยตามคดีนี้ได้ (4) เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่จำเลยฎีกาว่า หากโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย โจทก์ก็ควรคิดได้ตามอัตราทางราชการปอนด์ละ45 บาท ไม่ใช่ตามอัตราตลาดปอนด์ละ 58.90 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์คิดให้นั้น ในปัญหาข้อนี้คำให้การของจำเลยแก้ฟ้องโจทก์ มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ ทั้งปรากฏตามคำร้องของโจทก์จำเลยลงวันที่ 27พฤศจิกายน 2505 โจทก์จำเลยร่วมกันแถลงรับว่า “ฯลฯ การซื้อขายสินค้าระหว่างเอกชนก็ดี การที่เอกชนชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินต่อเอกชนหรือต่อธนาคารก็ดี ตามพฤติการณ์ในการค้าทั่วไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดอัตราดังกล่าวย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะของตลาดการค้าซึ่งโดยเฉลี่ยประมาณปอนด์ละ 60 บาท อัตราในท้องตลาดสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราปอนด์สเตอร์ลิง (อังกฤษ) ในวันฟ้องคดีนี้ปอนด์ละ 58.90 บาท” ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ (5) เรื่องการเรียกธนาคารแหลมทอง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เห็นว่าเนื่องจากจำเลยอาจฟ้องธนาคารแหลมทอง จำกัด เรียกให้ชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารแหลมทอง จำกัดเป็นผู้ค้ำประกันในการที่บริษัทอุดม จำกัด รับสินค้าไปจากจำเลยถ้าหากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จำเลยก็ย่อมจะขอให้เรียกธนาคารแหลมทอง จำกัด เข้ามาในคดีนี้ได้แต่ที่จะพิพากษาให้ธนาคารแหลมทอง จำกัด ต้องรับผิดแทนจำเลยตามที่จำเลยขอมาในคำร้องที่ขอให้เรียกธนาคารแหลมทอง จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น หาได้ไม่ เพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดกับธนาคารแหลมทอง จำกัด พิพากษายืน.

Share