แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยริมบาทวิถีถนนราชดำเนินกลางด้านทิศใต้ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เรียกรับเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายวางแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลบนบาทวิถีโดยละเว้นไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้เสียหาย โดยมิชอบด้วยหน้าที่และโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำซึ่งไม่ใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุน ตาม ป.อ. มาตรา 86
สภาพทางเท้าปูตัวอิฐตัวหนอนไปจนถึงขอบบันไดอาคารมีลักษณะเป็นผืนเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกชัดเจนว่าทางเท้าของกรุงเทพมหานครไปสิ้นสุดที่จุดใด การตั้งวางแผงลอยขายของต่างๆ มีทั้งส่วนที่อยู่ใต้ชายคาอาคารและส่วนที่ล้ำออกมานอกชายคาอาคารผู้เสียหายตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่บนทางเท้า อันถือว่าเป็นถนนตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางบ้างเมือง พ.ศ.2535 แล้ว
ในการพิจารณาคดีของศาล หากมีพยานคู่แต่ไม่สามารถนำสืบได้ในคราวเดียวกัน ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานคู่นั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157, 90
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และ 83 จำคุก 8 เดือน คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 และจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 กรุงเทพมหานครมีคำสั่งที่ 745/2550 แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่โดยให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครตั้งแต่ระดับ 1 ขึ้นไป ซึ่งสังกัดฝ่ายเทศกิจทุกคน ทุกสำนักงานเขต เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 สำนักงานเขตพระนคร มีคำสั่งที่ 72/2543 กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของข้าราชการและลูกจ้างฝ่ายเทศกิจ โดยข้อ 2.3 ให้สายตรวจจัดระเบียบชุด 253 มีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าชุด และบุคคลอื่นอีก 4 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในชุด มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง และบริเวณอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ ส่วนนางสาวสุกานดา ผู้เสียหาย เป็นผู้ค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งแผงลอยอยู่ที่หน้าธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามว่า จำเลยทั้งสองไปบอกผู้เสียหายว่า ให้เตรียมเงินไว้จำนวน 1,000 บาท เพื่อเป็นค่าตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจะไปเก็บเงินในภายหลัง จึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2543 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวจำเลยที่ 2 ได้ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 โดยส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 และแจ้งขอหาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2543 ว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากนั้นสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นบริเวณใต้ชายคาหน้าอาคารธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ไม่ใช่ถนนตามความหมายของพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 4 จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปจัดระเบียบและจับกุมผู้วางแผงลอยในสถานที่ดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีตัวผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า จุดที่ผู้เสียหายตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ จุดที่ 1 และหมายเลข 2 ซึ่งเป็นบริเวณทางเท้า ไม่ใช่ใต้ชายคาอาคารธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน รวมทั้งพยานโจทก์ปากอื่น ๆ ได้แก่ นายศิริชัย เบิกความยืนยันว่า จุดที่ผู้เสียหายตั้งแผงลอยนั้น วางอยู่บนทางเท้า ใต้ชายคาอาคารธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ทางเท้าเป็นของกรุงเทพมหานคร ส่วน นางประกอบ นางสุพิณดา นางสำรวย นางธีรวรรณ เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าผู้เสียหายตั้งแผงลอยอยู่ที่บริเวณหมายเลข 2 แม้นายชุมพล ซึ่งในขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพระนครและนายประเสริฐ ซึ่งในขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเขตพระนครเบิกความว่า กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ดูแลทางเท้าที่เป็นทางสาธารณะเท่านั้น หากเป็นแนวร่นจากทางเท้า กรุงเทพมหานครไม่มีหน้าที่ดูแล และบริเวณใต้ชายคาอาคารธนาคารออมสิน สาขา ราชดำเนิน ไม่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร กับที่นางเสริฐ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่าบริเวณใต้ชายคาอาคารธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ไม่อยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการแตกต่างกัน แต่เมื่อศาลฎีกาตรวจดูแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดทำขึ้น ผู้เสียหายตั้งแผงลอยอยู่ที่จุดหมายเลข 1 ในวันที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองไปเรียกเอาเงินและผู้เสียหายตั้งแผงลอยอยู่ที่จุดหมายเลข 2 ในวันที่จำเลยที่ 2 ไปรับเงิน ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าตั้งอยู่บนทางเท้า แม้จำเลยทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารแต่จำเลยทั้งสองก็มิได้คัดค้านว่า แผนที่สังเขปดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่ประการใด ทั้งเมื่อศาลฎีกาตรวจดูภาพถ่าย เห็นว่า สภาพทางเท้าปูด้วยอิฐตัวหนอน ไปจนถึงขอบบันใดของอาคาร มีลักษณะเป็นผืนเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกให้ชัดเจนว่า ทางเท้าของกรุงเทพมหานครไปสิ้นสุดที่จุดใด การตั้งวางแผงลอยขายของต่าง ๆ ตามภาพถ่ายก็มีทั้งส่วนที่อยู่ใต้ชายคาอาคารและส่วนที่ล้ำออกมานอกชายคาอาคาร ซึ่งหากวิญญูชนดูภาพถ่าย ย่อมเห็นได้ว่า ส่วนที่ปูด้วยอิฐบล็อกรูปตัวหนอนย่อมเป็นทางเท้าที่กรุงเทพมหานครเป็น ผู้ก่อสร้างไว้ ภาพถ่ายดังกล่าวจึงเป็นการเจือสมกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุผู้เสียหายตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่บนทางเท้า อันมีความหมายเป็นถนนตามคำจำกัดความของพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 4 แล้ว ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 19 และมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจจึงมีอำนาจหน้าที่เข้าไปจัดระเบียบและจับกุมผู้เสียหายได้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อต่อไปว่า ตามวันเวลาที่ระบุในฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกร้องเอาเงินค่าวางแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลจากผู้เสียหายในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อ ละเว้นการจับกุมผู้เสียหาย อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ผู้เสียหายรู้จักกับจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2542 เนื่องจากจำเลยที่ 2 เคยไปเก็บเงินเป็นค่าวางแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลจากผู้เสียหายเป็นประจำ เป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท เมื่อวันที่ 21 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ขณะที่ผู้เสียหายตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองเดินไปด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 2 เข้าไปพูดกับผู้เสียหายว่าให้เตรียมเงินไว้จ่ายเป็นค่าวางแผงลอยจำนวน 1,000 บาท ด้วย ผู้เสียหายพูดต่อรองขอจ่ายจำนวน 500 บาท เนื่องจาก ส. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ประกาศไม่ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจอีก จำเลยทั้งสองพูดว่า ไม่ได้ ให้จ่ายในราคาเหมือนเดิม และจำเลยที่ 2 พูดต่อไปว่า จะมาเก็บเงินในวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ครั้นถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองเดินไปด้วยกันที่แผงลอยของผู้เสียหายอีก ผู้เสียหายบอกจำเลยทั้งสองว่า ไม่มีเงินจ่ายให้ จำเลยที่ 2 พูดว่า ถ้าไม่มีให้จ่ายวันหลังก็ได้ และบอกว่าในวันที่ 27 สิงหาคม 2543 จะไปเก็บเงินในเวลาก่อนเที่ยง ผู้เสียหายปรึกษากับผู้ค้าขายอื่น ๆ ในสถานที่เกิดเหตุแล้วตกลงจะไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นได้ประกาศไม่ให้ผู้ค้าขายจ่ายเงินเป็นค่าวางแผงลอยให้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจอีก จากนั้นผู้เสียหายกับนายประกอบไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม พนักงานสอบสวนวางแผนการจับกุม โดยนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ไปถ่ายเอกสารแล้วให้พยานลงลายมือชื่อและให้ผู้เสียหายนำไปให้ผู้ค้าขายรายอื่น ๆ ลงลายมือชื่อไว้ด้วยรวมทั้งหมด 8 คน กับพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกในรายการประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไว้ ผู้เสียหายเก็บธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ไว้ ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2543 ผู้เสียหายวางแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามปกติ ครั้นเวลาก่อนเที่ยง จำเลยที่ 2 เดินไปที่ยืนอยู่ที่แผงลอยของผู้เสียหายเพียงคนเดียว ผู้เสียหายยื่นธนบัตรดังกล่าวให้แกจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่รับ บอกว่าให้วางไว้เพราะกลัวคนอื่นจะเห็น ผู้เสียหายวางธนบัตรไว้ที่แผงลอย จำเลยที่ 2 หยิบธนบัตรแล้วเดินออกไป สักครู่หนึ่งมี เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุมจำเลยที่ 2 แล้วนำตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ที่ตัวจำเลยที่ 2 ตรวจสอบแล้วมีหมายเลขตรงกันกับธนบัตรที่ได้ถ่ายเอกสารไว้ เห็นว่า นอกจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานแล้ว โจทก์มีผู้ที่ลงลายมือชื่อในสำเนาธนบัตร ได้แก่ นายศิริชัย นางเสริฐ นางประกอบ นางสุพิณดา นางธีรวรรณ และนายภัทรพงศ์ มาเบิกความเป็นพยานด้วย โดยนายศิริชัยเบิกความยืนยันว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2543 นั้น พยานเห็นจำเลยทั้งสองเดินไปที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวของนายประกอบ จำเลยทั้งสองพูดว่าย่านการค้าบริเวณถนนราชดำเนินกลางไม่เกี่ยวกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางเสริฐเบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ผู้เสียหายเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่เทศกิจมาขอเก็บเงินค่าวางแผงจากผู้เสียหายจำนวน 1,000 บาท ขอให้ช่วยเป็นพยานโดยลงลายมือชื่อในพยานจึงลงลายมือชื่อให้ไป และในวันนั้นพยานเห็นจำเลยทั้งสองเดินไปในสถานที่เกิดเหตุต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 2 ไปที่แผงลอยของผู้เสียหายเพียงคนเดียวและหยิบเอาเงินจากแผงของผู้เสียหายไป จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ถูกจับกุมตัว นางประกอบเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ในวันที่ 21 หรือ 22 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองพูดกับแม่ค้าในย่านถนนราชดำเนินว่า ต้องเสียค่าที่เหมือนเดิม นางสุพิณดา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 เพราะเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้ช่วยลงชื่อเอกสาร เป็นพยาน และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุไม่เคยเห็นจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากผู้ค้าในย่านสถานที่เกิดเหตุ ในวันที่ 27 สิงหาคม 2543 พยานไม่ได้ไปขายของจึงไม่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น นางธีรวรรณเบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 พยานเห็นจำเลยทั้งสองยืนเถียงกับนางประกอบเรื่องการเก็บเงินค่าวางแผงลอย ต่อมาเมื่อผู้เสียหายมาขอให้พยานลงลายมือชื่อในเอกสาร พยานก็ลงลายมือชื่อให้ไป ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2543 พยานเห็นจำเลยที่ 2 เดินไปที่แผงของผู้เสียหายเพียงคนเดียว แต่พยานไม่สนใจเพราะกำลังขายของอยู่ หลังจากนั้นจึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวไป นายภัทรพงศ์เบิกความว่า พยานลงลายมือในเอกสาร เพราะผู้เสียหายบอกว่าให้ช่วยเป็นพยานเกี่ยวกับเรื่องเจ้าหน้าที่เทศกิจเรียกเก็บเงินค่าวางแผงลอย และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เคยไปไล่แม่ค้าที่วางแผงลอยขายของอยู่บนทางเท้า และบอกว่าจะเก็บเงินเช่นเดิม กับมีนางสำรวยเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณวันที่ 22 สิงหาคม 2543 พยานเห็นจำเลยทั้งสองยืนทะเลาะกับกลุ่มแม่ค้าซึ่งมีนางประกอบอยู่ด้วย ต่อมานายศิริชัยสามีของพยานเล่าให้ฟังว่าจำเลยทั้งสองทะเลาะกับแม่ค้าเรื่อง ค่าวางแผงลอยซึ่งจำเลยทั้งสองบอกว่าจะต้องจ่ายเงินเหมือนเดิม แต่พวกแม่ค้าจะไม่ยอมจ่ายเงินอีก ส่วนในวันที่ 25 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองเดินไปย่านถนนราชดำเนิน จำเลยที่ 1 ยืนอยู่ที่แผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับพยาน ส่วนจำเลยที่ 2 พูดคุยกับผู้เสียหาย หลังจากจำเลยทั้งสองไปแล้ว ผู้เสียหายเล่าให้พยานฟังว่า จำเลยที่ 2 เรียกเอาเงินจำนวน 1,000 บาท จากผู้เสียหาย และนัดจะไปรับเงินในวันที่ 27 สิงหาคม 2543 นอกจากนี้โจทก์มีนายชุมพล ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเทศกิจและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองเป็นพยานเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2543 กรุงเทพมหานครประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งระดับ 1 จึงมีบุคคลไปสมัครสอบเป็นจำนวนมาก พยานมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สายตรวจจัดระเบียบชุด 253 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุดและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าชุดกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ตามคำสั่งสำนักงานเขตพระนคร ไปดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยรอบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 8 ถึง 16 นาฬิกา โดยในตอนเช้าเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องไปพร้อมกันที่สนามหลวงเพื่อตรวจสอบชื่อและรับคำสั่งว่าบุคคลใดจะต้องไปทำงานใดและที่ใด นายประเสริฐ ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเขตพระนครเป็นพยานเบิกความว่า ในวันที่ 21 และ 22 สิงหาคม 2543 นั้น เจ้าหน้าที่สายตรวจจัดระเบียบชุด 253 ซึ่งมีจำเลยทั้งสองรวมอยู่ด้วยได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พยานทราบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวเนื่องจากไปเรียกเอาเงินจากผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลในสถานที่เกิดเหตุ ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 83 และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง กรุงเทพมหานครจึงมีคำสั่งไล่จำเลยทั้งสองออกจากราชการและจากการเป็นลูกจ้างประจำตามลำดับแล้ว และร้อยตำรวจเอกเพิ่มบุญ เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้จับกุมตัวจำเลย โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2543 เวลาประมาณ 10 นาฬิกาพยานกับพวกไปซุ่มดูเหตุการณ์บริเวณสถานที่เกิดเหตุ ครั้นเวลา 12.10 นาฬิกาจำเลยที่ 2 เดินไปที่แผงลอยของผู้เสียหาย หลังจากพูดคุยกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 หยิบสิ่งของจากแผงลอยใส่กระเป๋าเสื้อแล้วเดินออกไป พยานกับพวกเข้าไปจับกุมและค้นตัว ผลการตรวจค้นพบธนบัตร ฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับที่ได้ถ่ายเอกสารและให้ผู้เสียหายกับพวกลงลายมือชื่อไว้จึงนำตัวจำเลยที่ 2 ไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเพื่อดำเนินคดีต่อไป จากคำเบิกความของนายศิริชัย นางเสริฐ นางประกอบ นางสุพิณดา นางธีรวรรณ นายภัทรพงศ์และนางสำรวย ดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ยืนยันว่า ในระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่ 22 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2543 เห็นจำเลยทั้งสองเดินไปด้วยกันในสถานที่เกิดเหตุ แม้พยานดังกล่าวจะไม่เห็นหรือไม่ได้ยินว่า จำเลยทั้งสองไปพูดกับผู้เสียหายว่าอย่างไรบ้าง หรือพยานบางคนจะเบิกความแตกต่างกันบ้างในเรื่องจำเลยทั้งสองยืนอยู่ตรงจุดใด และพูดว่าอย่างไร หรือจำเลยทั้งสองเคยเรียกเงินค่าวางแผงลอยมาก่อนหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่า พยานแต่ละคนต่างก็เบิกความไปตามเหตุการณ์ที่ตนเองรู้เห็นเพราะพยานแต่ละคนอยู่ที่จุดต่าง ๆ กันทั้งมิใช่เป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ แต่เมื่อนำสาระสำคัญไปประกอบกับคำเบิกความของผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสองเข้าไปพูดด้วยโดยตรงแล้ว เป็นการสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นว่า จำเลยทั้งสองเริ่มไปพูดกับผู้เสียหายและผู้ค้าขายรายอื่น ๆ ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 21 ถึง 22 สิงหาคม 2543 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ว่า ผู้เสียหายและผู้ค้าขายรายอื่น ๆ ต้องจ่ายค่าวางแผงลอยตามเดิม ครั้นวันที่ 27 สิงหาคม 2543 เวลาก่อนเที่ยงจำเลยที่ 2 ก็เดินทางไปที่แผงลอยของผู้เสียหายและหยิบเอาเงินจำนวน 1,000 บาท ที่ผู้เสียหายเตรียมไว้ให้ไป และถูกเจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูอยู่จับกุมตัวได้ทันที แม้นายชุมพลและนายประเสริฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ระหว่างวันที่ 7 ถึง วันที่ 28 สิงหาคม 2543 ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้จำเลย ทั้งสองไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร และมิได้มีการยกเลิกคำสั่ง จำเลยทั้งสองจึงยังคงมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง สถานที่เกิดเหตุก็อยู่ไม่ไกลจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งสองย่อมสามารถปลีกเวลาเดินไปยังสถานที่เกิดเหตุได้โดยอาศัยเวลาไม่นานนัก ดังที่จำเลยที่ 2 ก็ไปเก็บเงินจากผู้เสียหายและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวในสถานที่เกิดเหตุในวันที่ 27 สิงหาคม 2543 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างวันที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานอยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในวันที่ 21 ถึง 22 สิงหาคม 2543 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกเอาเงินอันเป็นทรัพย์สินจากผู้เสียหาย และในวันที่ 27 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 2 ไปเก็บเงินจากผู้เสียหายตามที่จำเลยทั้งสองได้เรียกไว้เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสบคบกันเรียกรับ ทรัพย์สินจากผู้เสียหายเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 สำนักงานเขตพระนคร และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตพระนคร แม้สำนักงานเขตพระนครมีคำสั่งที่ 72/2543 กำหนดให้เป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 มิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จึงลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานโจทก์ที่เบิกความไปแล้วนำเอาข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความไปเล่าให้แก่พยานโจทก์ปากที่จะเบิกความในภายหลังฟัง เพื่อให้การเบิกความเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงรับฟังไม่ได้ นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาคดีของศาล หากมีพยานคู่แต่ไม่สามารถนำสืบได้ในคราวเดียวกัน นั้น ไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติห้ามมิให้รับฟัง คงเป็นแต่เพียงให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวได้เท่านั้น หาใช่รับฟังไม่ได้ทั้งหมดดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่
พิพากษายืน ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ