แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในคดีก่อนที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นในคดีนั้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 20,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อคดีก่อนจำเลยไม่ได้รับโทษจำคุก จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยพ้นโทษแล้วภายใน 5 ปี มากระทำความผิดคดีนี้ จะเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 แห่งประมวลกฎหมายอาญามิได้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2542 เวลากลางวันถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดนนทบุรีในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2004/2539เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2539 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ200,000 บาท (ที่ถูกคือ 20,000 บาท) ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยได้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปี ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นโทษ จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,57, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุก 1 ปี4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยเคยกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์มาก่อน แต่จำเลยยังกระทำความผิดคดีนี้อีก แสดงว่าจำเลยมิได้เข็ดหลาบและเกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับตามกฎหมายทั้งมิได้รู้สำนึกที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีแต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น ปรากฏว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2004/2539 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นในคดีนั้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 20,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาคดีดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้องในสำนวนคดีนี้ เมื่อคดีก่อนจำเลยไม่ได้รับโทษจำคุก จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยพ้นโทษแล้วภายใน 5 ปี มากระทำความผิดคดีนี้ จะเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 แห่งประมวลกฎหมายอาญามิได้ ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยมานั้น เป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือนยกคำขอให้เพิ่มโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2