คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองสำนวนในวันที่ 30เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่จำเลยร่วมยื่นฎีกาว่า รับฎีกาจำเลยร่วมสำเนาให้โจทก์ทั้งสี่ให้จำเลยร่วมส่งภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงให้ทราบภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา จำเลยร่วมจึงทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ต่อมาปรากฏว่าส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539ตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 หลังจากนั้นจำเลยร่วมไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินการต่อไปแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยร่วมทิ้งฎีกาสำนวนแรกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174
จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยให้การเกี่ยวกับอายุความว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องในมูลละเมิดเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526 โจทก์ไม่ติดใจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยร่วมมาแต่แรก คงมีจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิด แต่ก็เพิ่งเรียกเข้ามาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531อันเป็นเวลาล่วงเลยจากวันเกิดเหตุถึง 5 ปี คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 ดังนี้ จำเลยร่วมให้การโดยชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความเรื่องการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว แม้จำเลยร่วมจะยกบทกฎหมายขึ้นอ้างว่าขาดอายุความละเมิดตามมาตรา 448 ก็ตาม แต่ถ้าตัดข้อความคำว่า “ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448” ออกเสียคำให้การของจำเลยร่วมเกี่ยวกับอายุความในส่วนที่เหลือก็ยังพออนุมานได้ว่าจำเลยร่วมได้ยกอายุความตามมาตรา 882 ขึ้นต่อสู้แล้ว และการจะปรับบทมาตราใดเป็นหน้าที่ของศาลจะยกขึ้นปรับแก่คดี คำให้การของจำเลยร่วมจึงมีประเด็นเรื่องอายุความการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคแรก
คดีนี้เหตุวินาศภัยเกิดในวันที่ 5 กันยายน 2526 จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยถูกเรียกเข้ามาในคดีเพื่อให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่7 มิถุนายน 2531 เป็นเวลาล่วงเลยจากวันเกิดเหตุกว่า 2 ปี คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคแรก

Share